เศรษฐกิจพอเพียง “...เมื่อปี ๒๕๑๗ วันนั้นได้พูดถึงว่า เราควรปฏิบัติให้พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ก็แปลว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนมีพอมีพอกิน ก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดีและประเทศไทยเวลานั้นก็เริ่มจะเป็นไม่พอมีพอกิน บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย ... ... คนเรา ถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณ ตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง ...” “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะ แนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า ๓๐ ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำใช้ได้ในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัวระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ความพอเพียง หมายถึง (ความพอประมาณ ความมีเหตุผล) รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอก และภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกใน คุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรู้ที่เหมาะสม ในการดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี ความพอเพียง จะต้องประกอบด้วย ๓ คุณลักษณะ ดังนี้ ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดี ที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ ไม่ใช้จ่ายเกินกำลังความสามารถในการหารายได้ของตน ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ เช่น คิดก่อนใช้ สิ่งใดจำเป็นหรือไม่จำเป็น ใช้จ่ายอย่างประหยัด และแบ่งปันเกื้อกูลต่อสังคม การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลง ด้านต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การเก็บออมเงินไว้ใช้ เมื่อเกษียณอายุจากการทำงาน หรือใช้ในยามฉุกเฉิน การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้พอเพียง ต้องอาศัยความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน ประกอบอาชีพที่สุจริต ด้วยความขยันหมั่นเพียร ใช้สติปัญญาในการตัดสินใจต่าง ๆ เพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง เราทุกคนสามารถนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต ได้ดังนี้ พอประมาณ : รายจ่ายสมดุลกับรายรับ ใช้จ่ายภายในกำลังความสามารถของตน ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ไม่โลภจนเบียดเบียนตัวเองหรือผู้อื่น ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีเหตุผล : ใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล มีความจำเป็น ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ประหยัด ไม่ใช้สิ่งของ เกินฐานะ ไม่เล่นการพนันหรือเสพสิ่งเสพติด รู้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ มีภูมิคุ้มกัน : รักษาสุขภาพกายสุขภาพใจให้แข็งแรง พัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองอย่าง ต่อเนื่อง มีเงินเก็บออม ทำบุญ และแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ความรู้คู่คุณธรรม : ประกอบอาชีพที่สุจริต ด้วยความขยันหมั่นเพียร ซื่อตรงต่อหน้าที่และยืนหยัด ในความถูกต้อง อุทิศตนเพื่องาน ทำงานเพื่องาน ทำงานอย่างผู้รู้จริง รู้รักสามัคคีหากเราทุกคนนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาน้อมนำประพฤติปฏิบัติ นอกจากจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในทุกด้านแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างพื้นฐานของจิตใจของคนในชาติ ให้มีความพอดี มีคุณธรรม มีความสุขที่แท้จริง ไม่หลงยึดติดในโลกแห่งวัตถุนิยมการจัดทำบัญชีเงินออมครัวเรือน บันทึกรายรับและรายจ่ายอย่างสม่ำเสมอ เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยตรวจสอบการใช้จ่ายของครอบครัวว่า มีรายจ่ายสมดุลกับรายรับ ใช้จ่ายอย่างมีเหตุผลตามความจำเป็น พอเหมาะกับสภาพของครอบครัวหรือไม่ หากสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นหรือฟุ้งเฟ้อเกินตน จะช่วยให้สามารถมีเงินเก็บออมเพื่อเป็นรากฐานสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีสำหรับชีวิตในอนาคต

วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555

การปลูกยางพารา ในภาคใต้,ตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

การปลูกยางพารา

ความเตรียมพื้นที่ปลูกยาง  
ใน พื้นที่ที่เป็นสวนยางเก่า ป่า หรือมีไม้ยืนต้นอื่นขึ้นอยู่ จะต้องโค่นไม้ เหล่านั้นเสียก่อน การโค่นจะใช้วิธีตัดต้นไม้ให้เหลือตอสูง 40-50 เซนติเมตร แล้วทำลายตอไม้เหล่านั้นให้ผุสลายในภายหลัง โดยใช้สาร เคมีไทรโคลเปอร์ หรือการ์ลอน 4 (ชื่อการค้า) ในอัตรา 5 ซี.ซี. ผสมน้ำ 95 ซี.ซี. ต่อตอ โดยทาก่อนหรือหลังตัดต้นไม้ 1-7 วันก็ได้ หรือจะใช้ รถแทรกเตอร์ไถต้นไม้ออกจากแปลงให้หมดก็ได้เช่นกัน หลังจากโค่นต้นยางเก่า หรือต้นไม้อื่นๆ แล้วต้องเก็บไม้ใหญ่ออก จากนั้นเก็บเศษไม้รวมเป็นกองๆ เรียงเป็นแนวตามพื้นที่ ตากให้แห้ง ทำแนวกันไฟแล้วเผา หลังจากเผาเสร็จควรเก็บปรนที่ยังไหม้ไม่หมดรวมกันเผาอีกครั้ง
การเตรียมหลุมปลูก
หลุมปลูกยางโดยทั่วไปจะมีขนาดกว้าง x ยาวxลึก เท่ากับ 50 x 50 x 50 เซนติเมตร การขุดหลุมปลูกควรแยกดินบนและดินล่างไว้คนละส่วน ตากดินทิ้งไว้ 10-15 วัน จากนั้นย่อยดินบนให้ร่วนแล้วผสมปุ๋ยร้อคฟอสเฟต อัตรา 170 กรัมต่อหลุม
การปลูกซ่อม 
หลังจาก ปลูกแล้วอาจมีต้นยางบางต้นตายไปเนื่องจากอากาศแห้งแล้ง ถูกโรคและแมลงทำลาย หรือต้นที่ปลูกไม่สมบูรณ์ จำเป็นต้องปลูกซ่อม ซึ่งควรทำให้เสร็จภายในช่วงฤดูฝน ต้นพันธุ์ที่เหมาะสำหรับปลูกซ่อม คือ ยางชำถุง เพราะจำทำให้ต้นยางที่ปลูกในแปลงมีขนาดไล่เลี่ยกัน ส่วนต้นยางที่มีอายุเกิน 1 ปี ไปแล้วไม่ควรปลูกซ่อม เพราะจะถูกบังร่มไม่สามารถเจริญเติบโตทันต้นอื่นได้
การกำจัดวัชพืชการกำจัดวัชพืชทำได้ 3 วิธีคือ 
1. ใช้จอบถากหรือแทรกเตอร์ไถ วิธีนี้เกษตรกรนิยมใช้มากแต่มีข้อเสียคือจะกระทบกระเทือนต่อราก ทำให้ต้นยางชะงักการเจริญเติบโต 
2. ใช้วิธีปลูกพืชคลุมดิน โดยนำเมล็ดพืชคลุมดินแต่ละชนิดมาผสมกันแล้วนำไปปลูกโดยใช้เมล็ดพืชคลุมดินใน อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ปลูกยาง 1 ไร่ ยกเว้นในท้องที่แห้งแล้งใช้อัตรา 1.5 กิโลกรัมต่อไร่
อัตราการผสมเมล็ดพืชคลุมดิน ภาคใต้และภาคตะวันออก
- คาโลโปโกเนียม 2 ส่วน เซนโตรซีม่า 2 ส่วน เพอราเรีย 1 ส่วน
- คาโลโปโกเนียม 5 ส่วน เซนโตรซีม่า 4 ส่วน เพอราเรีย 1 ส่วน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- คาโลโปโกเนียม 1 ส่วน เพอราเรีย 1 ส่วน โดยก่อนปลูกควรนำเมล็ดพืชคลุมดินไปแช่ในน้ำอุ่น (น้ำร้อน 2 ส่วนผสมกับน้ำ เย็น 1 ส่วน) ทิ้งไว้ 1 คืน แล้วเทน้ำทิ้ง ปล่อยให้เมล็ดแห้งพอหมาด จากนั้นนำเมล็ดไปคลุก กับปุ๋ยร้อคฟอสเฟตในปริมาณที่เท่ากันโดยน้ำหนัก แล้วจึงนำไปปลูกได้
- วิธีการปลูกพืชคลุมดิน ให้ใช้จอบขุดดินเป็นร่องลึกประมาณ 2-3 นิ้ว ให้เป็นแถว 3 แถว โดยให้แถวริม ที่อยู่ชิดแถวยางอยู่ห่างจากแถวยางข้างละ 2 เมตร ส่วนแถวกลางให้อยู่ระหว่างกลางของแถวริมทั้งสอง นำเมล็ดพืชคลุมดิน โรยลงในร่องแล้วเกลี่ยดินกลบเมล็ด
การ ปลูกพืชคลุมดินนี้ จะลงมือปลูกพืชคลุมดินก่อน หรือจะปลูกพร้อมๆกับ ปลูกยาง หรือหลังปลูกยางแล้ว ก็ได้ แต่เพื่อความสะดวกและง่าย ต่อการกำจัด วัชพืชควรปลูกพืชคลุมดินหลังจาก ได้เตรียมดินวางแนว และกะระยะปลูกยาง เสร็จเรียบร้อยแล้ว หลังจากปลูกพืชคลุมดิน จนกระทั่งเมล็ดงอกเป็นต้นกล้าเล็กๆ แล้ว ควรดูแลกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งพืชคลุมดินเริ่มทอดเถาเลื้อย ไปคลุมดินจึงใส่ปุ๋ยร้อคฟอสเฟตในอัตรา 6 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อบำรุงพืช คลุมดิน
3. การใช้สารเคมี เป็นวิธีที่ให้ผลดี ประหยัดแรงงาน และเวลา นิยมใช้กับต้นยางที่มีอยายุ 1 ปีขึ้นไป หรือต้นยางที่มีเปลือกบริเวณโคนต้นเป็นสีน้ำตาลสูงจากพื้นดินมากกว่า 75 เซนติเมตรไปแล้ว ส่วนต้นยางที่มีเปลือกบริเวณโคนต้นเป็นสีน้ำตาลสูงจากพื้นดินน้อยกว่า 75 เซนติเมตรไม่ควรใช้วิธีนี้
การใช้สารเคมีกำจัดพืชสำหรับยางอ่อน การปลูกยางโดยใช้ต้นตอตาหรือยางชำถุง จะใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในแถวยาง ได้อย่างปลอดภัยต่อเมื่อต้นยางมีเปลือก สีน้ำตาลที่บริเวณ โคนต้นสูงจากพื้นดิน 75 เซนติเมตร
สารเคมีที่ใช้ในสวนยางอ่อนมีอยู่หลายสูตร แต่จะแนะนำเฉพาะบางสูตรที่หา ได้ง่ายเช่น
สูตรที่ 1 ใช้พาราควอท 80 กรัม (เนื้อสารบริสุทธิ์) ผสมน้ำ 50 ลิตรต่อพื้นที่ 1 ไร่ ระวังอย่าให้สารเคมี ถูกใบหรือส่วนที่เป็นสีเขียวของต้น สูตรนี้จะเหมาะกับต้นยาง ที่มีอายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป สามารถคุมวัชพืชได้นาน 3-5 สัปดาห์ โดยหลังจากพ่นสารเคมี แล้วยภายใน 2-3 ชั่วโมง จะต้องไม่มีฝนตก การใช้สารเคมีจึงจะได้ผลสมบูรณ์
สูตรที่ 2 ใช้ดาลาพอน 800 กรัม (เนื้อสารบริสุทธิ์) ผสมน้ำ 50 ลิตรต่อพื้นที่ 1 ไร่ ฉีดพ่น และหลังจากนั้นอีก 21 วัน ให้พ่นซ้ำด้วยพาราควอท 40 กรัม (เนื้อสาร บริสุทธิ์) ผสมน้ำ 50 ลิตรต่อพื้นที่ 1 ไร่ อีกครั้งหนึ่ง สูตรนี้เหมาะกับต้นยาง ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป โดยส่วนใหญ่จะใช้กำจัดวัชพืชพวกใบเลี้ยงเดี่ยว
สูตรที่ 3 ใช้พาราควอท 60 กรัม (เนื้อสารบริสุทธิ์) และ 2,4-ดี 150 กรัม (เนื้อสารบริสุทธิ์) ผสมน้ำ 50 ลิตรต่อพื้นที่ 1 ไร่ สุตรนี้จะเหมาะกับต้นยาง ที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่จะใช้กำจัดวัชพืชพวกใบเลี้ยงคู่ รวมทั้งพืชคลุม ที่เลื้อยเข้าไปพันต้นยาง
สูตรที่ 4 ใช้ไกลโฟเสท 205 กรัม (เนื้อสารบริสุทธิ์) ผสมน้ำ 50 ลิตรต่อพื้นที่ 1 ไร่ สามารถ กำจัดวัชพืชได้หลายชนิดโดยไม่มีพิษตกค้างในดิน สามารถคุมวัชพืช ได้นาน 2 เดือน สูตรนี้เหมาะกับต้นยางที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป โดยหลังจากพ่น สารเคมีแล้วภายใน 6 ชั่วโมง จะต้องไม่มีฝนตก การใช้สารเคมีจึงจะได้ผลสมบูรณ์
การใช้สารเคมีกำจัดพืชสำหรับสวนยางที่กรีดแล้ว ใช้พาราควอท 80 กรัม (เนื้อสารบริสุทธิ์) ผสมน้ำ 50 ลิตรฉีดพ่นในพื้นที่ 1 ไร่ โดยใช้หัวฉีดสีเหลือง
การกำจัดหญ้าคา การใช้สารเคมีกำจัดหญ้าคานับว่าเป็นวิธีที่ประหยัดค่าใช้จ่ายและได้ ผลดีกว่าวิธีอื่นๆ โดยมีสูตรการใช้สารเคมีให้เลือก 3 สูตรคือ
สูตรที่ 1 ใช้ดาราพอน 1.6 กิโลกรัม (เนื้อสารบริสุทธิ์) ผสมน้ำ 100 ลิตรต่อพื้นที่ 1 ไร่ โดยใช้หัวฉีดสีแดง หลังจากฉีดพ่นแล้ว 21 วัน ให้ใช้ดาลาพอนในอัตราเดิม ฉีดพ่นซ้ำอีกครั้ง จากนั้นประมาณ 3-4 เดือน หากมีหญ้าคางอกหรือหลงเหลืออยู่ ควรฉีดพ่นสารเคมี อีกครั้งในอัตราเดิม
สูตรที่ 2 ถ้าต้นยางมีอายุตั้งแต่ 2 ปี ลงมาและมีหญ้าคาขึ้นบริเวณโคนต้น ให้ฉีดพ่น ด้วยด้วยดาลาพอน 1.6 กิโลกรัม (เนื้อสารบริสุทธิ์) ผสมน้ำ 100 ลิตรต่อพื้นที่ 1 ไร่ หลังจากฉีดพ่น แล้ว 21 วัน ให้ใช้พาราควอท 80 กรัม (เนื้อสารบริสุทธิ์) ผสมน้ำ 100 ลิตรต่อพื้นที่ 1 ไร่ เพื่อลดอันตรายของต้นยางอ่อนซึ่งอาจเกิดขึ้นจากดาลาพอน
สูตรที่ 3 ใช้ไกลโฟเสท 410 กรัม (เนื้อสารบริสุทธิ์) ผสมน้ำ 100 ลิตรต่อพื้นที่ 1 ฉีดพ่นเพียงครั้งเดียว
ข้อสังเกต การกำจัดหญ้าคาควรฉีดพ่นสารเคมีในช่วงที่หญ้าคากำลัง เจริญเติบโต (ต้นฤดูฝน) จะได้ผลดีที่สุด การกำจัดหญ้าคาด้วยไกลโฟเสทให้ผลดีกว่า ดาลาพอน ซึ่งดาลาพอนต้องพ่นถึง 2 ครั้ง แต่เมื่อเปรียบเทียบทางด้านค่าใช้จ่ายแล้วการใช้ดาลาพอนจะประหยัดกว่า
หมาย เหตุ : เนื้อสารบริสุทธิ์ หมายถึง ปริมาณสารออกฤทธิ์ซึ่งจะต้องปรากฏ ในฉลาก ที่ภาชนะบรรจุเป็นภาษาไทย ตามพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ พ.ศ. 2510 มาตรา 21
บริเวณที่ใส่ปุ๋ย  ระยะ แรกหลังจากปลูกยาง รากของต้นยางจะแผ่ออกเป็นวงกลมรอบลำต้น ประมาณปีที่ 4 รากจึงจะแผ่ขยายออกไปจนถึงกึ่งกลางระหว่างแถวยาง และเมื่อต้นยางมีอายุเกิน 5 ปีขึ้นไป รากก็จะแผ่ขยายเพิ่มขึ้นและหนาแน่น อยู่ในบริเวณห่างจากลำต้น ประมาณ 60 เซนติเมตร จนถึง 3 เมตร ดังนั้นเพื่อให้การ ดูดอาหารของต้นยาง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรใส่ปุ๋ยบริเวณ ที่มีรากดูดอาหาร หนาแน่นคือเมื่อต้นยางยังเล็กควรใส่ปุ๋ยเป็นวงกลม รอบลำต้น ส่วนต้นยาง ที่มีออายุตั้งแต่ 17 เดือนขึ้นไป ให้หว่านปุ๋ยกระจายสม่ำเสมอเป็นแถบยาว ไปให้แถวยาง ห่างจากโคน ต้นยางข้างละ 1 เมตร เมื่อยางมีอายุ 5 ปีขึ้นไปให้หว่านปุ๋ยเป็นแถบกว้างห่าง จากโคนต้นยางอย่างน้อย 50 เซนติเมตร และขยายออกไปถึง 3 เมตร สำหรับยาง ที่เปิดกรีด แล้วให้หว่านปุ๋ยทั่วแปลงห่างจากโคนต้นยางข้างละ 1 เมตร

การกรีดยาง  การ กรีดยางต้องยึดหลักที่ว่า เมื่อกรีดแล้วจะต้องได้น้ำยางมากที่สุด เปลือกเสียหายน้อยที่สุด กรีดได้นาน 25-30 ปี และประหยัดค่าใช้จ่ายมากที่สุด 
ขนาดของต้นยางที่เปิดกรีดได้   
1. ขนาดของต้นยางที่พร้อมเปิดกรีดต้องมีเส้นรอบต้นไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร วัดที่ความสูงจากพื้นดิน 150 เซนติเมตร
2. เปิดกรีดครั้งแรกเมื่อมีจำนวนต้นยางที่พร้อมเปิดกรีดในสวนเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ของต้นยาง ทั้งหมดในสวน
3. ต้นยางติดตา สามารถเปิดกรีดครั้งแรกได้ที่ระดับความสูงจากพื้นดิน 50, 75, 100, 125, หรือ 150 เซนติเมตรระดับใดระดับหนึ่งก็ได้ แต่ถ้าเปิดกรีดต่ำ จะได้รับผลผลิตมากกว่า
วิธีติดรางและถ้วยรับน้ำยาง
เวลาที่เหมาะสมในการกรีดยาง  ควร จะเริ่มกรีดยางตั้งแต่ตอนเช้า ประมาณ 06.00-08.00 น. เพราะจะทำให้ปฏิบัติงานได้สะดวก เนื่องจากมองเห็นชัดเจนกว่ากลางคืนและผลผลิตที่ได้ใกล้เคียงกับการ กรีดในตอนกลางคืน
ขนาดของงานกรีดยาง  คนกรีดยาง 1 คน จะสามารถกรีดยางในสวนยางที่ปลูกในพื้นที่ราบ ตามระบบครึ่งลำต้นวันเว้นวัน ได้ประมาณ 400-450 ต้นต่อวัน
วิธีการกรีดยาง ควรกรีดยางโดยใช้วิธีกระตุกข้อมือหรือการซอย พร้อมกับย่อตัวและสลับเท้าไปตามรอยกรีด ของต้นยาง อย่ากรีดโดยวิธีใช้ท่อนแขนลากหรือกระชากเป็นอันขาด การกรีดโดยวิธีกระตุกข้อมือจะทำให้กรีดได้เร็ว ควบคุมการกรีดง่าย กรีดเปลือกได้บาง แม้จะกรีดบาดเนื้อไม้ก็จะบาดเป็นแผลเล็กๆเท่านั้น
ระบบการกรีดยาง  เนื่อง จากในระยะ 2-3 ปีแรกของการกรีด ต้นยางยังอยู่ในระยะการเจริญเติบโตค่อนข้างสูง การกรีดยาง มากเกินไปจะทำให้ต้นยางชะงักการเจริญเติบโต ดังนั้นจึงควรกรีดยางในระบบครึ่งต้นวันเว้นวัน โดยหยุดกรีดในช่วงผลัดใบและไม่มีการกรีดชดเชยเพื่อ ทดแทน วันที่ฝนตกจนกระทั่งปีที่ 4 ของการกรีดเป็นต้นไป จึงสามารถกรีดชดเชยได้ระบบกรีดครึ่งลำต้นวันเว้นวันนี้ใช้ได้กับยาง เกือบทุกพันธุ์ ยกเว้นบางพันธุ์ที่เป็นโรคเปลือกแห้งได้ง่ายเท่านั้นที่ควรใช้ระบบกรีดครึ่ง ลำต้น วันเว้นสองวัน
ข้อควรปฏิบัติในการกรีดยาง
1. ควรกรีดยางตอนเช้าหลังจากที่มีแสงสว่างแล้ว
2. กรีดยางเฉพาะต้นที่ได้ขนาดแล้ว
3. รอยกรีดจะต้องเริ่มจากซ้ายบนมาขวาล่าง เอียงประมาณ 30 องศากับแนวระดับ
4. อย่ากรีดเปลือกหนา เพราะจะทำให้เปลือกงอกใหม่เสียหาย
5. อย่ากรีดเปลือกหนา ภายใน 1 เดือน ไม่ควรกรีดให้เปลืองเปลือกเกิน 2.5 เซนติเมตร หรือภายใน 1 ปี ไม่ควรกรีดให้เปลืองเปลือกเกิน 25 เซนติเมตร
6. หยุดกรีดเมื่อยางผลัดใบหรือเป็นโรคหน้ายาง
7. มีดกรีดยางต้องคมอยู่เสมอ
8. การเปิดกรีดยางหน้าที่สองและหน้าต่อไปให้เปิดกรีดที่ระดับความสูงจากพื้นดิน 150 เซนติเมตร
การกรีดยางหน้าสูง  การ กรีดยางหน้าสูง หมายถึง การกรีดยางหน้าบนเหนือหน้ากรีด ปกติซึ่งเป็นส่วน ที่ไม่เคยกรีดยางมาก่อน ต้นยางที่เหมาะสมที่จะทำการกรีดยางหน้าสูงคือ ต้นยางก่อนโค่นซึ่งมีอายุมาก หรือหน้ากรีดปกติเสียหาย
โดย ทั่วไปการกรีดยางหน้าสูงจะต้องใช้สารเคมีเร่งน้ำยาควบคู่กันไป ด้วย เพื่อต้องการให้ได้รับยาง มากที่สุดก่อนที่จะโค่นยางเก่าเพื่อปลูกแทน 2-4 ปี โดยใช้สารเคมีเร่งน้ำยางอีเทรล 2.5 เปอร์เซ็นต์ เป็นตัวเร่ง
การใช้สารเคมีเร่งน้ำยางกับรอยกรีดหน้าล่าง วิธีนี้เหมาะสำหรับต้นยางที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยใช้สารเคมีเร่งน้ำยางเข้มข้น 2.5 เปอร์เซ็นต์ ทาเหนือรอยกรีดหน้าล่างทุก 3 สัปดาห์โดยไม่ต้องขูดเปลือกและลอกขี้ยาง แต่ต้องกรีดครึ่งต้น วันเว้นสองวันโดยเคร่งครัดเพื่อป้องกันการเกิดอาการ โรคเปลือกแห้ง ไม่แนะนำให้ใช้สารเคมี เร่งน้ำยายางกับยางที่เพิ่งเปิดกรีดใหม่ ยกเว้นยางบางพันธุ์ที่มักจะให้น้ำยางน้อย ในช่วงแรก ของการเปิดกรีด เช่น พันธุ์จีที (GT) 1 อาจใช้สารเคมีเร่งน้ำยาง 2.5 เปอร์เซ็นต์ทาในรอยกรีด โดยลอกขี้ยางออกก่อนจากที่เปิดกรีดไปแล้ว 1 เดือนก็ได้และทาสารเคมีเร่งน้ำยางทุก 3-4 เดือน หรือปีละ 3-4 ครั้ง ใช้ระบบกรีดครึ่งลำต้นวันเว้นสองวัน แต่ในปีถัดไปถ้าผลผลิตสูงขึ้น แล้วควรหยุดใช้ สารเคมีเร่งน้ำยาง
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการปลูกยาง  ยางพารา จะสามารถปลูกได้และให้ผลดีถ้ามีสภาพแวดล้อมบางประการ ที่เหมาะสมดังนี้ 1. พื้นที่ปลูกยาง - ไม่ควรอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลเกิน 200 เมตร และไม่ควรมีความลาดเทเกิน 45 องศา หากจะปลูกยางในพื้นที่ที่มีความลาดเทเกิน 15 องศาขึ้นไป ควรปลูกแบบ ขั้นบันได 
2. ดิน - ควรมีหน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 1 เมตร โดยไม่มีชั้นของหินแข็งหรือดินดาน ซึ่งจะขัดขวางการเจริญเติบโตของราก เนื้อดินควรเป็นดินร่วน ดินร่วนเหนียว หรือดินร่วนเหนียวปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง มีการระบายน้ำและอากาศดี น้ำไม่ท่วมขัง ระดับน้ำใต้ดินลึกกว่า 1 เมตร ไม่เป็นดินเค็ม และมีความเป็นกรดเป็นด่าง 4.0-5.5
3. น้ำฝน - มีปริมาณน้ำฝนไม่น้อยกว่า 1,350 มิลลิเมตรต่อปี และมีฝนตกไม่น้อยกว่า 120 วันต่อปี
4. ความชื้นสัมพันธ์ - เฉลี่ยตลอดปีไม่น้อยกว่า 65 เปอร์เซ็นต์
5. อุณหภูมิ - เฉลี่ยตลอดปีไม่แตกต่างกันมากนัก ควรมีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 24-27 องศาเซลเซียส
6. ความเร็วลม - เฉลี่ยตลอดปีไม่เกิน 1 เมตรต่อวินาที
7. แหล่งความรู้ - ควรมีแหล่งความรู้เรื่องยางไว้ให้บริการแก่เกษตรกรในพื้นที่ด้วย
การเตรียมดิน  
เมื่อเผาปรนเสร็จให้เตรียมดินโดยการไถ 2 ครั้ง พรวน 1 ครั้ง ในกรณีที่เป็น พื้นที่ลาดเทมาก เช่น เนินเขาชันเกิน 15 องศา จะต้องทำขั้นบันไดหรือชานดิน เพื่อป้องกันมิให้น้ำฝนชะล้างเอาหน้าดินไหลไปตามน้ำ อาจทำเฉพาะต้นหรือ ทำยาวเป็นแนวเดียวกัน ล้อมเป็นวงกลมรอบไปตามไหล่เขาหรือเนินก็ได้ โดยให้ระดับขนานไปกับพื้นดิน ขั้นบันไดควรกว้างน้อยที่สุด 1.50 เมตร แต่ละขั้น ให้ตัดดินลึกและเอียงเข้าไปในทางเนินดิน ตรงขอบด้านนอกทำเป็นคันดินสูงประมาณ 30 เซนติเมตร กว้าง 60-70 เซนติเมตร ระยะระหว่างขั้นบันไดประมาณ 8-10 เมตร
ชนิดของต้นพันธุ์ยาง
1. ต้นตอตา คือ ต้นกล้ายางที่ได้รับการติดตาด้วยยางพันธุ์ดีหลังจากที่ติดตาเรียบร้อยแล้ว จึงถอนขึ้นมาตัดแต่งราก และตัดต้นเดิม เหนือแผ่นตาประมาณ 2 ฝ นิ้วทิ้ง แล้วนำต้นตอที่ได้ไปปลูกทันที ต้นตอตาจะเป็นต้นพันธุ์ที่ไม่มีดินห่อหุ้มรากหรือเรียกว่าต้นเปลือกราก
2. ต้นติดตาชำในถุงพลาสติกหรือยางชำถุง คือ ต้นตอตาที่น้ำมาชำในถุงพลาสติกขนาดกว้าง 4 นิ้วยาว 14 นิ้ว หรือขนาดใหญ่กว่านี้ที่บรรจุดินไว้เรียบร้อยแล้ว ดูแลบำรุงรักษา จนตาแตกออกมาเป็นใบได้ขนาด 1-2 ฉัตร อายุประมาณ 3-5 เดือน และมีใบในฉัตรยอดแก่เต็มที่
3. ต้นยางที่ปลูกด้วยเมล็ดแล้วติดตาในแปลง คือการปลูกสร้างสวนยางโดยใช้เมล็ดปลูกในแปลงโดยตรง เมื่อเมล็ดเจริญเติบโตเป็นต้นกล้าที่มีขนาดเหมาะสมจึงทำการติดตาในแปลงปลูก ต้นพันธุ์ยางทั้ง 3 ชนิดดังที่กล่าวมาแล้วเหมาะสมที่จะปลูกในภาคตะวันออก และภาคใต้ แต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแนะนำให้ปลูกด้วยต้นยางชำถุง เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

โรคและแมลงศัตรูยางพารา
1. โรครากขาว เป็นโรคร้ายแรงโรคหนึ่งที่เกิดจากเชื้อรา เกิดขึ้นได้กับยางทั่วไปทั้งยางอ่อนและยางแก่
ลักษณะอาการ จะสังเกตเห็นพุ่มใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแกมส้ม ใบร่วงหมดทั้งต้น ขอบใบม้วนเข้าด้านใน ถ้าตรวจดูที่รากจะเห็นเส้นใยของเชื้อราแตกสาขา เป็นร่างแหจับติดแน่นและแผ่คลุมผิวรากที่เป็นโรค ลักษณะของเส้นใย มีสีขาวปลายแบน เมื่อเส้นใยอายุมากขึ้นจะนูนกลม และกลายเป็นสีเหลืองจนถึงสีน้ำตาลแห้งซีด ในช่วงที่มีฝนตกจะมีดอกเห็ด เกิดขึ้นตรงบริเวณโคนต้นหรือส่วนรากที่โผล่พ้นดิน ลักษณะดอกเห็ดจะซ้อนกันหลายชั้น ผิวบนสีเหลืองแกมส้ม ขอบสีขาว ส่วนผิวล่างมีสีส้มแดงหรือน้ำตาล ถ้าตัดดอกเห็นตามขวางจะเห็นชั้นบนเป็นสีขาว และชั้นล่างเป็นสีน้ำตาลแดงชัดเจน
การป้องกันและรักษา 1. การเตรียมพื้นที่ปลูกยางจะต้องทำการถอนรากและเผาทำลายตอไม้ ท่อนไม้ให้หมด เพื่อทำลายเชื้อราอันอาจทำให้เกิดโรครากขาวได้ 2. หลังจากปลูกยางไปแล้วประมาณ 1 ปี หมั่นตรวจดูต้นที่เป็นโรค หากไม่พบต้นที่เป็นโรคให้ป้องกันด้วยการทาสารเคมีพีซีเอ็นบี (PCNB) 20% เคลือบไว้ที่โคนต้นตรงคอดิน รากแก้ว และฐานของรากแขนงแขนง 3. หากพบต้นที่เป็นโรคบริเวณโคนต้น โคนรากและรากแขนงให้ตัดหรือเฉือนทิ้ง แล้วทาด้วยสารเคมีพีซีเอ็นบี (PCNB) 20% ผสมน้ำและควรทำการตรวจซ้ำในปีต่อไป 4. ถ้าพบโรครากขาวในต้นยางอายุน้อยให้ทำการขดรากที่เป็นโรคขึ้นมาเผาทำลาย
2. โรคเส้นดำ เกิดจากเชื้อราไฟทอปโทร่า เป็นโรคที่ทำอันตรายต่อหน้ากรีดยางมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตที่มีความชื้นสูง ทำให้เปลือกงอกใหม่เสียหายรุนแรงจนกรีดซ้ำหน้าเดิมไม่ได้ ต้นยางจึงให้ผลผลิตสั้นลงโดยอาจกรีดได้เพียง 8-16 ปีเท่านั้น
ลักษณะอาการ จะปรากฏอาการเหนือรอยกรีด โดยในระยะแรกเปลือกจะซ้ำมีสีผิดปกติ ต่อมารอยช้ำจะเปลี่ยนเป็นรอยบุ๋มสีดำ ขยายตัวในแนวตั้ง ถ้าเฉือนเปลือกออกดูจะพบลายเส้นดำบนเนื้อไม้ อาการในขั้นรุนแรงจะทำให้เปลือกบริเวณนั้นปริและมีน้ำยางไหลตลอดเวลา เปลือกจะเน่าหลุดไปในที่สุด เปลือกงอกใหม่จะมีลักษณะเป็นตะปุ่มตะป่า ทำให้กรีดยางต่อไปไม่ได้
การป้องกัน 1. อย่าเปิดหน้ายางหรือขึ้นหน้ายางใหม่ในระหว่างฤดูฝน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีฝนตก และอย่ากรีดลึกจนถึงเนื้อไม้เพราะจะทำให้หน้ายางเสียหาย โอกาสที่เชื้อจะเข้าทำลายมีมากขึ้น
2. ตัดแต่งกิ่งยางและปราบวัชพืชให้สวนยางโปร่ง มีอากาศถ่ายเทสะดวก จะช่วยให้หน้ายางแห้งเร็วขึ้น และเป็นการลดความรุนแรงของโรคได้
3. การกรีดยางในฤดูฝนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะที่มีโรคใบร่วงระบาด ควรทาหน้ายางด้วยสารเคมีชนิดเดียวกับที่ใช้รักษา
การรักษา เมื่อพบหน้ากรีดยางเริ่มแสดงอาการให้ใช้สารเมตาแลคซิลอัตรา 7-14 กรัม (1/2 - 1ช้อนแกง) ต่อน้ำ 1 ลิตร ผสมสารแผ่กระจายและจับติด จำนวน 2 ซี.ซี. ( ฝ ช้อนชา) ใช้สารอย่างใดอย่างหนึ่งทาหน้ากรีดยางทุก 7 วัน ประมาณ 3-4 ครั้ง จะสามารถป้องกันกำจัดโรคนี้ได้ แต่ถ้าหากฝนตกชุกติดต่อกัน ควรทาสารเคมีต่อไปอีกจนกว่าโรคนี้จะหาย
3. โรคเปลือกเน่า เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา ระบาดรุนแรงมากในฤดูฝน ทำให้เปลือกงอกใหม่เสียหายรุ่นแรงจนกรีดซ้ำไม่ได้
ลักษณะอาการ ระยะแรกจะเป็นรอยบุ๋มสีจางบนเปลือกงอกใหม่เหนือรอยกรีดต่อมาแผลนั้นจะมีเส้น ใยของเชื้อราสีเทา ขึ้นปกคลุม และขยายลุกลามเป็นแถบขนานไปกับรอยกรีด ทำให้เปลือกบริเวณดังกล่าวนี้เน่าหลุดเป็นแว่น เหลือแต่เนื้อไม้สีดำ การป้องกัน 1. เนื่องจากโรคนี้มักเกิดในแหล่งปลูกยางที่มีความชื้นสูงมาก ๆ ดังนั้นจึงควรมีการตัดแต่งกิ่งและกำจัดวัชพืชในสวนยางเป็นประจำเพื่อให้สวน ยางโปร่ง มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ความชื้นในแปลงยางจะได้ลดลง
2. ถ้าพบว่าต้นยางเป็นโรคเปลือกเน่า ควรหยุดกรีดยางประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพื่อป้องกันมิให้เชื้อแพร่ไปติดต้นอื่น
4. โรคเปลือกแห้ง สาเหตุสำคัญเกิดจากสวนยางขาดการบำรุงรักษา และการกรีดเอาน้ำยางออกมากเกินไป จึงทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้น มีอาหารไม่พอเลี้ยงเปลือกยางบริเวณนั้น จึงแห้งตาย นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการผิดปกติภายในทอน้ำยางเองด้วย
ลักษณะอาการ หลังจากกรีดยางแล้ว น้ำยางจะแห้งเป็นจุดๆ ค้างอยู่บนรอยกรีดเปลือกยางมีสีน้ำตาลอ่อน ถ้ายังกรีดต่อไปอีก เปลือกยางจะแห้งสนิทไม่มีน้ำยางไหล เปลือกใต้รอยกรีดจะแตกขยายบริเวณมากขึ้นจนถึงพื้นดินและ หลุดออก เนื่องจากเปลือกงอกใหม่ภายในดันออกมา
การป้องกันและรักษา โรคนี้มักจะเกิดบนรอยกรีด ถ้าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการดูแลรักษาจะลุกลามทำให้หน้ากรีดเสียหายหมด ดังนั้นวิธีการลดและควบคุมโรคกับต้นยางที่เปิดยางแล้ว จึงใช้วิธีทำร่องแยกส่วนที่เป็นโรคออกจากกันและเมื่อตรวจพบยางต้นใดที่เป็น โรคนี้เพียงบางส่วน จะต้องทำร่องโดยการใช้สิ่วเซาะร่องให้ลึกถึงเนื้อไม ้โดยรอบบริเวณที่เป็นโรค โดยให้ร่องที่ทำนี้ห่างจากบริเวณที่เป็นโรคประมาณ 2 เซนติเมตร หลังจากนั้นก็สามารถเปิดกรีดต่อไปได้ตามปกติ แต่ในการกรีดต้องเปิดกรีดต่ำ ลงมาจากบริเวณที่เป็นโรค เปลี่ยนระบบกรีดใหม่ให้ถูกต้องและหยุดกรีดในช่วงผลัดใบ
การ เอาใจใส่บำรุงรักษาสวนยางให้สมบูรณ์แข็งแรงตั้งแต่เริ่มปลูกใส่ ปุ๋ยถูกต้องตามจำนวน และระยะเวลาที่ทางวิชาการแนะนำ ใช้ระบบกรีดให้ถูกต้อง จะช่วยป้องกันมิให้ยาวเป็นโรคเปลือก แห้งได้มาก
5. โรคใบร่วงและผลเน่าที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปโทร่า
ลักษณะอาการ ผลที่ถูกทำลายจะเน่าดำค้างอยู่บนต้น ส่วนอาการที่ใบจะพบว่าใบร่วงทั้ง ๆ ที่ยังมีสีเขียวมีรอยช้ำสีดำอยู่ที่ก้านใบและตรงกลางรอยช้ำมีหยดน้ำยางเกาะ ติดอยู่ด้วย ถ้านำใบยางที่ร่วงมาสลัดเบาๆ ใบย่อยจะหลุดทันที โรคนี้จะสัมพันธุ์กับโรคเส้นดำด้วย เนื่องจากเกิดจากเชื้อชนิดเดียวกัน เมื่อเกิดโรคนี้จะทำให้ใบร่วงโกร๋นทั้งสวน ผลผลิตยางจะลดลงแต่ก็ไม่ทำให้ต้นยางตาย
การป้องกันและรักษา ควรเลือกปลูกพันธุ์ยางที่ต้านทานโรคนี้ ถ้าเป็นยางพันธุ์อาร์อาร์ไอเอ็ม 600 ซึ่งอ่อนแอต่อโรคใบร่วงควรติดตาเปลี่ยนยอดด้วยพันธุ์ทีจี 1 และในสวนยางที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ให้ใช้แคปตาโฟล 80% ในอัตรา 2 กรัม ผสมน้ำ 1 ลิตร ฉีดพุ่มใบทุกสัปดาห์ในระหว่างที่โรคกำลังระบาด ส่วนในสวนยางที่มีต้นยางขนาดใหญ ่การใช้สารเคมีป้องกันจะไม่คุ้มค่าใช้จ่าย จึงไม่แนะนำให้ทำแต่จะแนะนำให้ใช้วิธีป้องกันรักษาโรคเส้นดำที่บริเวณหน้า กรีดแทน และหยุดกรีด ระหว่างที่เกิดโรคระบาดเท่านั้น
6. ปลวก จะทำลายต้นยางโดยการกัดกินส่วนรากและภายในลำต้นจนเป็นโพรง ทำให้ต้นยางยืนต้นตายโดยไม่สามารถสังเกตเห็นจากภายนอกได้จนกว่าจะขุดรากดู การป้องกันและรักษา ใช้สารเคมีกำจังแมลง ได้แก่ ออลดริน ดีลดริน เฮพตาคลอ หรือ คลอเดนในรูปของเหลว ราดที่โคนต้นให้ทั่วบริเวณรากของต้นที่ถูกทำลายและต้นข้างเคียง
7. หนอนทราย เป็นหนอนของด้วงชนิดหนึ่งลักษณะลำตัวสั้นป้อม ใหญ่ขนาดนิ้วชี้ สีขาวนวล มีจุดเป็นแถวข้างลำตัว เมื่อนำมาวางบนพื้นดินตัวหนอน จะงอคล้ายเบ็ดตกปลา หนอนทรายจะเริ่มทำลายรากต้นยางขนาดเล็ก มีพุ่มใบ 1-2 ฉัตร ทำให้พุ่มใบมีสีเหลือง เพราะระบบรากถูกทำลาย เมื่อขุดต้นยางต้นนั้นมาดูจะพบตัวหนอนทราย
8. โคนต้นไหม้ เป็น อาการผิดปกติที่เกิดจากสภาพแวดล้อม เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้งจัดและถูกแสงแดดเผา ทำให้โคนต้นยางตรงรอยติดต าทางทิศตะวันตกมีอาการไหม้ เปลือกไหม้ เปลือกแห้ง อาการจะลุกลามไปทางส่วนบนและขยายบริเวณไปรอบๆ ต้น จนแห้งตาย
การป้องกันและรักษา ควรปลูกยางเป็นแถวในแนวทิศตะวันออกและทิศตะวันตกก่อนเข้าฤดูแล้งให้ใช้ปูน ขาวทารอบโคนต้น จากระดับ พื้นดินสูงขึ้นไปจนถึงระดับ 1 เมตร แล้วใช้วัสดุคลุมดินรอบโคนต้นและใช้สีน้ำมันทารอยแผล
9. อาการตายจากยอด มักเกิดกับยางอายุระหว่าง 1-6 ปี หลังจากประสบกับปัญหาสภาพอากาศแห้งแล้งจัดเป็นเวลานานติดต่อกัน นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากความร้อนระอุของพื้นดิน ตลอดจนพิษตกค้างของสารเคมีในดิน เช่น สารเคมีปราบวัชพืช สารกำจัดตอ หรือใส่ปุ๋ยมากเกินไป ฯลฯ ในพื้นที่ที่มีหน้าดินตื้น มีชั้นของหินแข็งหรือดินดานอยู่ใต้ดินอาการตายจากยอดจะปรากฏให้เห็นได้ ชัดเจนหลังจากปลูกยางไปแล้ว 3 ปี
ลักษณะอาการ กิ่ง ก้าน ยอด จะแห้งตายจากปลายกิ่ง ปลายยอด แล้วลุกลามลงมาทีละน้อย ๆ จนถึงโคนต้น และยืนต้นตายในที่สุด แต่ถ้าผ่านสภาวะแห้งแล้งไปแล้วต้นยังไม่ตาย ลำต้นหรือส่วนที่ยังไม่ตายจะแตกกิ่งแขนงออกมาใหม่ สำหรับส่วนที่แห้งตายไปแล้ว เปลือกจะล่อนออก ถ้าแกะดูจะปรากฏเชื้อราเกิดขึ้นซ้ำทั่วบริเวณเปลือกด้านใน
การป้องกันและรักษา ถ้าสภาพดินเลวและแห้งแล้งจัดอาจให้น้ำช่วยตามความจำเป็น หรือใช้วัสดุคลุมโคนต้น จะช่วยรักษาความชุ่มชื้นและลดความรุนแรงของอาการตายจากยอดได้ ควรให้ปุ๋ยตามคำแนะนำโดยเคร่งครัด
ระยะปลูก
1. พื้นที่ราบ
ถ้าต้องการปลูกพืชแซมในระหว่างแถวของต้นยาง
- ในภาคใต้และภาคตะวันออกให้ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 2.50 เมตร ระหว่างแถว 8 เมตร จะได้จำนวน 80 ต้นต่อไร่
- ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 2.50 เมตร ระหว่างแถว 7 เมตร จะได้จำนวน 91 ต้นต่อไร่
"ถ้าต้องการปลูกพืชคลุมดินในระหว่างแถวของต้นยาง
- ในภาคใต้และภาคตะวันออกให้ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 2.50 เมตร ระหว่างแถว 7 เมตร จะได้จำนวน 91 ต้นต่อไร่
- ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 3 เมตร ระหว่างแถว 6 เมตร จะได้จำนวน 88 ต้นต่อไร่
2. พื้นที่ลาดหรือพื้นที่เชิงเขา
ตั้งแต่ ความชัน 15 องศาขึ้นไปต้องทำแนวขั้นบันไดโดยใช้ระยะระหว่างขั้นบันไดอย่างน้อย 8 เมตร ระยะระหว่างต้น 2.50 หรือ 3 เมตร เมื่อกำหนดระยะปลูกได้แล้วก็ทำการวางแนวและปักไม้ทำแนวเพื่อขุดหลุมปลูกต่อ ไป แนวปลูกควรวางตามทิศทางลม
วิธีปลูก การปลูกยางพาราจะแตกต่างกันไปตามชนิดของต้นพันธุ์ยางซึ่งในที่นี้จะกล่าว เฉพาะการปลูกด้วยต้น ตอตาและต้นยางชำถุงเท่านั้น เนื่องจากการปลูกด้วยเมล็ดแล้วติดตาในแปลงมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและเสียค่าใช้ จ่ายในการดูแลรักษามาก จึงไม่ค่อยมีผู้นิยมทำกันในปัจจุบัน
1. การปลูกด้วยต้นตอตา นำดินบนที่ผสมปุ๋ยร้อคฟอสเฟตเรียบร้อยแล้วใส่รองก้นหลุมแล้วกลบหลุมให้เต็ม ด้วยดินล่าง จากนั้นใช้เหล็กหรือไม้แหลมขนาดเล็กกว่าต้นตอตาเล็กน้อย ปักนำเป็นรูตรงกลางหลุมให้ลึกเท่ากับ ความยาวของรากแก้ว แล้วนำต้นตอปักลงไป กดดินให้แน่น พูนดินบริเวณโคนต้นเล็กน้อยอย่าให้กลบแผ่นตา พยายามให้รอยต่อระหว่างรากกับลำต้นอยู่ระดับปากหลุมพอดี
2. การปลูกด้วยต้นยางชำถุง
2.1 วิธีปลูกยางในภาคตะวันออกและภาคใต้ นำดินที่ผสมปุ๋ยร้อคฟอสเฟตเรียบร้อยแล้วใส่รองก้นหลุม จากนั้นนำต้นยางชำถุงไปตัดดินที่ก้นถุงออกประมาณ 1 นิ้ว เพื่อตัดปลายรากที่คดงอแล้ววางลงไปในหลุม โดยให้ดินปากถุงหรือรอยต่อระหว่างลำต้นและรากอยู่ในระดับพื้นดินปากหลุมพอดี ถ้าต่ำเกินไปให้ใส่ดินรองก้นหลุมเพิ่ม หรือถ้าสูงเกินไปให้เอาดินในหลุมออก จัดต้นยางให้ตรงกับแนวต้นอื่น ใช้มีดกรีดด้านข้างถุงพลาสติกจากก้นถุงถึงปากถุงให้ขาดจากกัน กลบดินล่างที่เหลือลงไปจนเกือบเต็มหลุม อย่างเพิ่งกดแน่น ค่อยๆดึงถุงพลาสติกที่กรีดไว้แล้วออกอัดดินข้างถุงให้แน่น แล้วกลบดินเพิ่มจนเต็มหลุม อัดให้แน่นอีกครั้ง พูนโคนเล็กน้อยเพื่อป้องกันน้ำขัง จากนั้นปักไม้หลักและใช้เชือกผูกยึดต้นยางไว้เพื่อป้องกันลมโยก
2.2 วิธีปลูกยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ปลูกแบบลึก โดยใช้มีดคมๆ ตัดดินก้นถุงออกประมาณ 1 นิ้ว เพื่อตัดปลายรากที่คดงอจากนั้นวางยางชำถุงลงในหลุมปลูกให้ถุงแนบชิดกับดิน เดิมก้นหลุมจัดต ให้ตรงแนวกับต้นอื่น ใช้มีดกรีดด้านข้างถุงพลาสติกจากก้นถุงถึงปากถุงให้ขาดจากกัน กลบดินบนที่ผสมปุ๋ยร้อคฟอสเฟตแล้วลงในหลุมประมาณครึ่งหนึ่งของถุง อย่างเพิ่งกดแน่น ค่อยๆ ดังถุงพลาสติกที่กรีดไว้ออก อัดดินที่ถมข้างถุงให้แน่นแล้วกลบดินเพิ่มให้เต็มหลุม อัดให้แน่นอีกครั้ง หลังจากปลูกต้นยางชำถุงเสร็จแล้ว ควรปักไม้หลักและใช้เชือกผูกยึดต้นยางเพื่อป้องกันลมโยกและหาเศษวัชพืชคลุม ดินบริเวณโคนต้นไว้ด้วย


การแปรรูปยาง
น้ำ ยางที่ได้สามารถนำไปขายในรูปของน้ำยางสด หรือนำไปแปรรูปเป็นยางแผ่นดิบ การแปรรูปควรทำในโรงเรือน วิธีการผลิต และลักษณะของยางแผนคุณภาพดีมีดังนี้
1. วิธีการผลิตยางแผ่นดิบ เพื่อให้ได้ยางแผ่นดิบที่มีคุณภาดีและได้ราคาตรง ตามมาตรฐานจำเป็นต้องปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้
- เก็บรวบรวมน้ำยางใส่ในถึงเก็บน้ำยางที่มีฝาปิด
- กรองน้ำยางด้วยเครื่องกรองลวด เบอร์ 40 และ 60 โดย วางเครื่องกรองซ้อนกัน 2 ชั้น เบอร์ 40 ไว้ข้างบน และเบอร์ 60 ไว้ข้างล่าง
- ตวงน้ำยางที่กรองแล้ว 3 ลิตร ผสมกับน้ำสะอาด 2 ลิตร ใส่ลงตะกง
- ถ้าเป็นยางพันธุ์สงขลา 36 แนะนำให้ใส่สารโซเดียมเมตาไบซับไฟด์ในอัตราส่วน 0.02-0.06 กรัมของเนื้อสารบริสุทธิ์ต่อน้ำหนักเนื้อยางแห้ง 1กิโลกรัมใส่ลงตะกง
- เตรียมน้ำกรด โดยใช้น้ำกรดฟอร์มิก ชนิดความเข้มข้น 90% อัตราส่วน 2 ช้อนแกง ผสมกับน้ำสะอาด 3 กระป๋องนม
- ตรงน้ำกรดที่ผสมแล้ว 1 กระป๋องนมเทลงในน้ำยางในตะกง ที่ผสมน้ำแล้วกวนให้เข้ากัน
- ใช้ใบพายกวาดฟองกาศออกจากตะกงให้หมาด
- ปิดตะกงเพื่อป้องกันมิให้ฝุ่นละอองหรือสิ่งสกปรกตกลงในน้ำยางที่กำลังจับตัว ทิ้งไว้ประมาณ 30 – 45 นาที
- เมื่อยางจับตัวแล้วก่อนนำไปนวดรินน้ำสะอาดหล่อไว้ทุกตะกง เพื่อสะดวกในการเทแท่นยางออกจากตะกง
- เทแงยางออกจากตะกงบนโต๊ะนวดยางที่ปูด้วยอลูมิเนียมหรือแผ่นสังกะสีใช้ท่อ เหล็กนวดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว ยาวประมาณ 8 เซนติเมตร นวดยางให้หนาประมาณ 1 เซนติเมตร
- นำยางที่นวดแล้ว เข้าเครื่องรีดลื่น 3-4 ครั้ง ให้หนาประมาณ 3-4 มิลลิเมตร
- นำยางแผ่นที่ผ่านการรีดลื่นแล้ว เข้าเครื่องรีดดอก 1 ครั้ง ให้เหลือความหนาไม่เกิน 2 มิลลิเมตร
- นำแผ่นยางที่รีดดอกแล้วมาล้างด้วยน้ำสะอาดเพื่อล้างน้ำกรดและสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ตามผิวของแผ่นยางออกให้หมด
- นำแผ่นยางมาผึ่งให้แห้งไว้ในที่ร่มประมาณ 6 ชั่วโมงห้ามนำไปผึ่งแดดเพราะจะทำให้ยางเสื่อมคุณภาพ
- เก็บรวบรวมยางโดยพาดไว้บนราวในโรงเรือน เพื่อผึ่งให้แห้งใช้เวลาประมาณ 15 วัน รอจำหน่าย
2. ลักษณะยางแผ่นคุณภาพดี
- แผ่นยางมีความสะอาดและปราศจากฟองอากาศตลอกแผ่น
- มีความชื้นในแผ่นยางไม่เกิน 1.5%
- มีความยึดหยุ่นดี และมีลายดอกเด่นชัดตลอดแผ่น
- แผ่นยางบาง มีความหนาของแผ่นไม่เกิน 3 มิลลิเมตร
- เนื้อยางแห้งใส มีสีสวยสม่ำเสมอตลอดแผ่น ลักษณะสีเหลืองทองหรือเหลืองอ่อน ไม่มีสีคล้ำ หรือรอยด่างดำ
- น้ำหนักเฉลี่ยต่อแผ่น 800-1,200 กรัม
- แผ่นยางเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกลาง 38-46 เซนติเมตร ความยาง 80-90 เซนติเมตร

ที่มา : http://www.onlinewoodmarket.com/history-rubber-tree-/rubber-tree-.html


การปลูกยางพื้นที่ใหม่ในภาคอีสาน
Para  Rubber  in  North  East  Area

บทนำ
               การปลูกยางเริ่มจากภาคใต้ตั้งแต่ชุมพรลงไปจรดมาเลเซีย  มาทางภาคตะวันออกแถบจันทบุรี   หลังจากนั้นก็พัฒนามาทางภาคกลางแถบฉะเชิงเทรา  ตะวันตกก็มีแถบกาญจนบุรี  สระบุรีแถบมวกเหล็ก   ขึ้นสู่ภาคเหนือมีพิษณุโลก  เพชรบูรณ์  ตาก  เชียงราย  สู่ภาคตะวัน  ออกเฉียงเหนือมี  นครราชสีมา  ตั้งแต่ปากช่อง  จนถึงเลย  อุดรธานี  หนองคาย  จนถึงประเทศลาว

ยางถุงดำติดตา
               -  ขนาดถุง  11x35  ซม.  ดินสูง  25  ซม  ต้องสูงพอให้รากลงลึกได้  ไม่เน้นกว้างเน้นลึกหากดินถุงแตกจะทำให้รากบาดเจ็บ
               -  ความสูงของยาง  1  ฉัตร  ไม่เกิน  2  ฉัตร  ต้องแข็งแรงพอ ความสูงต้นยางไม่น้อยกว่า  20  ซม.  เพื่อไม่ให้ยางอ่อนไปจะทนแดดไม่ไหว
               -  การขนส่งยางถุงดำ  ควรใช้ตาข่ายคลุม  ป้องกันลมกระแทก ทำให้ใบยางซ้ำ หรือกิ่งถูกตีกระแทกซ้ำ  ให้ถนอมไว้
               -  ให้ตรวจหลุมก่อนปลูกด้วย  ว่ากว้างพอ  ดินข้างหลุมไม่แข็งไม่มีหินดานก้นหลุม
               -  ก่อนปลูกขนยางมาถึงพื้นที่  ให้พักยางอย่างน้อย  7  วันให้ต้นยางพักคัว  ก่อนลงหลุม (ออกศึก)
               -  แถวยางเดียวกันให้โตเท่าๆ  กัน
               -  เหลือยางไว้ไส่ถุงเก็บเอาไว้  เผื่อเอาไว้ปลูกซ่อมเวลาต้องยางที่ปลูกลงดินแล้วเกิดตาย

วิธีการปลูก
               -  ขนาดหลุมปลูก  50x50x50  ซม.
               -  ช่วงเวลาที่ปลูกมีต้นฝน  พฤษภาคม-กรกฎาคม
               -  ต้นยางที่ปลูก  1-2  ฉัตร  ลักษณะแข็งแรงสมบูรณ์ยอดไม่อ่อน วางไว้สู้แดดแล้ว
               -  ให้ตาที่ติดต้นหันไปทางเดียวกันแนะนำหันไปทางทิศตะวันตกให้ตาหลบแดด
               -  วิธีการปลูกเริ่มจากการใช้มีดตัดก้นถุงให้ขาด  ระวังหากรากลงก้นทะลุดินแล้วถึงต้องตัดจะทำให้ต้นยางเสียกำลัง
               -  กรีดด้านข้างถุงตามยาวแนวสูง
               -  วางลงกันหลุม
               -  กลบดินทับรอบๆ  ถุง  อย่าให้ดินหลุด
               -  ดึงถุงดำจากดิน
               -  กลบดินให้เสมอดินในถุง
               -  อย่าให้ดินกลบถึงตาต้นหรือทำให้ทรายหรือดินมากลบจะทำให้ดินทรายร้อนลวกตายางทำให้ต้นยางตายได้
               -  ปักไม้  (ไผ่)  ผูกยางกับหลักเพื่อไม่ให้ต้นยางโยกเวลาถูกลมพัดกระชาก
               -  ยางเหลือ  เก็บไว้ในร่มรอไว้ปลูกซ่อม
               -  1  เดือน  ไปดูยางที่ปลูกหากพบว่าตายให้ปลูกซ่อมทันทีเพื่อให้ยางโตไล่ได้ทัน

การใส่ปุ๋ย
               -  ใส่ปุ๋ยปีแรก  3  ครั้ง  ใช้ปุ๋ยสูตร  20-10-12
               -  ต้นละ  1  กำมือ  โรยรอบต้น  หรือขุดหลุมฝังปุ๋ย  4  จุด ในกรณีพื้นที่ราบ
               -  พื้นที่ลาดใช้ฝังปุ๋ย  2  จุด  ด้านบนความลาดเหนือต้นยางที่ปลูก
               -  ใส่ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์  1  กก./ตัน

ต้นพืชแซมยาง
               ต้นพืชแซมในสวนยางมีข้าวไร่  ข้าวโพด  สัปรด  (บางแห้งนิยมเผาไร่ข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยว  แบบนี้ระวังไฟไหม้ต้นยาง)  ให้ปลูกพืชแซมยาง  ห่างจากต้นยาง  1  เมตร  หรือห่างจากแถวยางข้างละ  1  เมตร  ปลูกพืชแซมยางช่วงปีที่  1-3  การปลูกพืชแซมจะช่วยกำจัดวัชพืชด้วย

พืชคลุมดิน
         พืชคลุมดินในสวนยางจะช่วยเพิ่มอินทรีย์สารรักษาความชื้นในสวนยางปัญหาในปัจจุบันก็คือ  หาเมล็ดพันธุ์พืชคลุมยากส่วนใหญ่ได้มาจากสถานีพัฒนาที่ดิน

การดูแลต้นยางปีที่  1
               -   ใช้ปุ๋ยสูตร  20-10-12  ตั้งแต่ปีแรกถึงปีที่  7  (จนถึงกรีดยาง)
               -  ใส่ปุ๋ย  2  ช่วง  ฝน  ต้นฝน  และปลายฝน
               -  เอาวัชพืชออกก่อนรอบโค่นต้นรัศมี  1  เมตร  ใช้ต้นละ  80  กรัม
               -  ตัดแต่งกิ่งปีที่  1  ช่วงปลายฝน  ตัดริดลำต้นเหลือยอดไว้ใช้สีน้ำมันหรือปูนขาวทาแผลที่จุดตัด  ให้ตัดกิ่งแขนงเหลือกิ่งกระโดงกิ่งเดียวยอดยางสูงไม่ยอมแตกกิ่ง  ห้ามตัดยอดเด็ดขาดเพราะต้องการเลี้ยงต้นให้สูงตรงระยะกรีดมาก

การดูแลยางในพื้นที่แห้งแล้ง
               -  หากหมดฝน  6-7  เดือน  ฝนน้อยดินขาดความชื้นหากเป็นยางต้นเล็กยังอ่อนอยู่จะชงักการเติบโตและอาจแห้งตาย
               -  หน้าแล้งให้คลุกโดนด้านยางด้วย  หญ้า  ฟางข้าว  เศษหญ้าคา  ให้พิจารณาของถูกหาง่ายในท้องถิ่นมาทดแทนโดยเฉพาะยางที่มีอายุ  0-3  ปี  เว้นห่างโดนต้น  1  คืบ  คลุมกว้างรัศ  1  เมตร  จากต้น  การคลุมฟางหญ้าจะทำให้รักษาความชื้นบริเวณต้นยางได้
               -  ให้คลุมก่อนเข้าหน้าแล้ง  1  เดือน  หรือในขณะที่ดินยังชื้นอยู่
               -  การคลุมอาจคลุมเป็นวงกลมรอบโคนต้นหรือคลุมเป็นแถวต้นยางก็ได้

การป้องกันต้นยางจากความร้อน
               -  เข้าหน้าแล้งให้ดูเปลือกยางเป็นแผลไหม้จากแสงแดดหากพบให้ใช้ปูนขาวละเลงน้ำทาต้นยางสูงจากดิน  1  เมตร
               -  รักษาแผลยางโดยใช้สีน้ำมันทาสีแผล
               -  ระวังไฟไหม้สวนยางโดยทำแนวกันไฟด้วยถนนหรือที่ว่างที่ปราศจากเชื้อไฟ  โดยรอบสวนยางหรือใช้รถไถหญ้าออกไปกว้างอย่างน้อย  3  เมตร
               -  การทำให้  Buffer  Zone  โดยการใช้ร่องเขาทำฝายชะลอน้ำใช้ป่าไผ่ชื้นกันไฟ  การใช้ต้นไม้อื่นปลูกไว้ที่แดนติดต่อกับไร่คนอื่น

การดูแลต้นยางปีที่  2
               -  หากพบยางตายให้ปลูกซ่อมต้นฝนโดยใช้ยาง  2  ฉัตร
               -  แบ่งใส่ปุ๋ย  3  ครั้ง
               -  ใช้สูตร  20-10-12  ปริมาณ  110  กรัม/ตัน  (ครึ่งกระป๋องนม)  โดยการหว่านเป็นวงกลมแล้วคราดกลบ
               -  ที่ลาดเทใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรรีย์ 2  จุด  แล้วกลบ
               -  ครั้งที่  2  และ  3  ช่วง  ต้นฝน  110  กรัม/ตัน  และปลายฝน  120  กรัม/ต้น

การดูแลต้นยางปีที่  3
               -  แบ่งปุ๋ย  2  ครั้ง  สูตร  20-10-12  ต้นฝนและปลายฝนครั้งละ  180  กรัม/ต้น
               -  ใส่โดยการขีดทางยาวขนานแถวยางห่าง  1  เมตร  ใส่ปุ๋ยแล้วกลบ
               -  ช่วงนี้ใบยางเริ่มคลุม
               -  ยางผลัดใบ  ผลิตใบ  ออกดอก  ให้กวาดใบยางไปไว้แถวๆ  กลางแถวยางเพื่อป้องกันไฟไหม้ใกล้ๆ  ต้นยาง

การดูแลต้นยางปีที่  4
         -  ยางเริ่มมีทรงพุ่มติดกัน
               -  ห้ามไถระหว่างแถวจะตัดรากขาด  ยางจะเสียกำลัง
               -  ใส่ปุ๋ย  2  ครั้ง  สูตร  20-10-12  ช่วงต้นฝนและปลายฝน  180  กรัม/ตัน
               -  ใส่  2  แถบ  ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ต้นละ  2  กก.
               -  กวาดใบยางไปอยู่กลางระหว่างแถวยาง

การดูแลต้นยางปีที่  5-6 
               -  ใช้ปุ๋ยปีละ  2  ครั้ง   ต้นฝน-ปลายฝน
               -  ใส่ระหว่างแถว
               -  ดูโรคทางราก

วางแผนการเก็บเกี่ยวยาง
         -  เส้นรอบวงลำต้นระยะสูงจากพื้นดิน  150  ซม.  หากมากกว่า  50  ซม.  มากกว่าครึ่งสวน  ต้นยางก็พร้อมที่จะกรีดได้
               -  เตรียมอุปกรณ์มีมีดกรีดยาง จอกยาง  รางน้ำยาง ลวดรับถ้วยกับลำต้นยาง
               -  กรีดรอยแรกที่ระดับสูง  150  ซม  จากพื้นวัดมุม  30  องศา  ขีดเส้นเอียงยาว  30  ซม.  ที่กรีดครึ่งต้น
               -  ความหนาที่กรีดน้อยกว่า  2.5  ซม.
               -  ความสามารถในการกรีดยางคนละ  500  ต้น/วัน

การทำยางแผ่น
               - ทำแผ่นยางดิบ
               -  รวบรวมน้ำยางใส่ถัง  ฝาปิด  กรองน้ำยางลงในถาด # 50
               -  ใช้กรดฟอมิกเข้มข้น  902  ช้อนแกงกับน้ำ  3  กระป๋องนม
         -  เทน้ำยาลงไปกวนให้เข้ากัน
               -  ใช้พายปาดฟองออก
               -  ปิดฝาถาดทิ้งไว้  30-45  นาที
               -  ยางจะจับตัวเป็นก้อน  เอาน้ำหล่อไว้
               -  เทยางออกจากถาดลงวางบนโต๊ะ
               -  ใช้เหล็กนวดยางให้แผ่ออกให้แบนๆ
               -  เอาเข้าเครื่องรีด  3-4  ครั้ง
               -  รีดดอก  1  ครั้ง
               -  เอายางไปล้างน้ำให้สะอาด  ไล่กรดออก
               -  เอายางไปพึ่งในร่ม  6  ชั่วโมง
               -  เก็บยางในโรงเรียน  15  วัน  รอจำหน่าย

ยางแผ่นที่ดี
               -  ไม่มีฟองอากาศ
               -  ความชื้นน้อยกว่า  1.5
         -  ยืดหยุ่น
               -  ดอกคมชัด
               -  หนาน้อยกว่า  3  มม.
               -  ยางแห้งใส
               -  สีสม่ำเสมอตลอดทั้งแผ่น
               -  น้ำหนัก  800-1200  กรัม/แผ่น
               -  ขนาดกว้าง  38-46  ซม.  ยาว  80-90  ซม.

การขายยางแผ่น
               -  รวบรวมหลายๆ  คน  แล้วขาย
               -  แยกขายของใครก็เอาไปขายเอง
ที่มา :  http://www.budmgt.com/agri/agri01/para-northeast.html#Font_:_Tahoma_%C2%A0____


การจำแนกพันธุ์ยางพารา
การ จำแนกพันธุ์ยางพารามี 2 วิธี คือ การจำแนกพันธุ์ยางพาราโดยสายตา โดยมองจากลักษณะภายนอกที่ยางพาราแต่ละพันธุ์แสดงออกมาให้เห็น และการจำแนกพันธุ์ยางพาราทางวิทยาศาสตร์ โดยการศึกษาและจัดทำลายพิมพ์ DNA แม้จะเป็นวิธีที่มีความแม่นยำสูง แต่มีขั้นตอนการปฎิบัติที่ยุ่งยาก ต้องใช้เวลา เสียค่าใช้จ่ายมาก จึงนิยมใช้วิธีการจำแนกพันธุ์ยางพาราด้วยสายตามากกว่า เพราะเป็นวีธีที่ตรวจสอบได้ง่าย และตรวจสอบได้จำนวนมาก สะดวกรวดเร็ว สามารถบอกชนิดของพันธุ์ยางได้ทันที การเป็นนักจำแนกพันธุ์ยางที่ประสบผลสำเร็จได้นั้น จึงต้องอาศัยการสังเกต หมั่นฝึกฝนเพิ่มความชำนาญ และที่สำคัญต้องมีหัวศิลป์ด้วย

สำหรับวิธีจำแนกพันธุ์ยางพาราโดยสายตา นายศุภมิตร ลิมปิชัย นักวิชาการเกษตร  8 ว ศูนย์วิจัยยางสงขลา สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา กรมวิชาการเกษตร ผู้มีความรู้ความสามารถ ควมชำนาญและมีประสบการณ์ในการจำแนกพันธุ์ยางมาหลายสิบปี เป็นวิทยากรมาหลายต่อหลายรุ่นได้กล่าวถึงเคล็ดลับในการจำแนกพันธุ์ยางโดยให้ มองภาพรวม ๆ ที่เป็นลักษณะภายนอกของต้นยางพาราที่เห็นได้ชัดเจน จนถึงส่วนปลีกย่อยมาประกอบ การตัดสินใจว่าเป็นยางพันธุ์ใด เริ่มด้วยการดูรูปทรงของฉัตร ต่อมาให้ดูลักษณะใบ, กิ่งก้าน เปลือก, สีของน้ำยาง รวมทั้งลักษณะประจำพันธุ์ ควรดูว่ามีอะไรที่แปลกเป็นพิเศษ ทั้งหมดถือเป็นเทคนิค อย่างหนึ่งช่วยทำให้จดจำได้ดียิ่งขึ้น
การดูรูปทรงของฉัตร
รูปทรงของฉัตร ให้พิจารณาฉัตรแก่ที่ 1-2 นับจากยอดว่ามีรูปทรงเป็นอย่างไร ที่พบเห็นมีอยู่ 4 ลักษณะ ได้แก่ รูปครึ่งวงกลม, รูปร่ม, รูปกรวย และรูปสามเหลี่ยมหรือรูปพีระมิด ซึ่งอาจมีทรงและขนาดแตกต่างกัน จำนวนใบในฉัตรมีมากหรือน้อยจนมองเห็นได้ชัดว่าโปร่ง หรืออัดแน่น หรือเป็นแบบฉัตรเปิดที่มองทะลุผ่านได้ หรือแบบฉัตรปิดที่ใบบนตกลงมาปิดใบล่างไม่สามารถมองทะลุผ่านฉัตรได้
การดูลักษณะของใบ
ใบยางพาราประกอบด้วย ใบย่อย 3 ใบ ให้พิจารณาดูใบกลางของยางพาราแต่ละพันธุ์ ซึ่งอาจมีรูปร่างแตกต่างกันไป ยางพาราบางพันธุ์มีใบป้อมกลางใบ เช่น พันธุ์สถาบันวิจัยยาง 251 และ พันธุ์ RRIM 600 ใบจะป้อมปลายใบ ส่วนยางพันธุ์ BPM 24 และ PB235 ใบจะป้อมกลางใบ จากนั้นให้พิจารณาดูว่า ฐานใบเป็นรูปลิ่ม หรือสอบเรียว มีปลายใบเรียวแหลม หรือติ่งแหลม มีขอบใบเรียบหรือเป็นรูปคลื่น มีแผ่นใบเรียบหรือขรุขระ ใบตัดตามขวางเป็นรูปตรง หรือเว้าเป็นท้องเรือ และตำแหน่งของขอบใบย่อยทั้ง 3 ใบ อยู่ในลักษณะแยกจากกัน, สัมผัสกัน หรือซ้อนทับกัน ก้านใบ ทำมุมกับลำต้นแบบไหน ตั้งฉาก, ทำมุมยกขึ้น หรือทำมุมทิ้งลง และรูปร่างของฐานก้านใบกลม, แบนราบ หรือฐานมีร่อง
จากลักษณะสำคัญ ๆ ที่เห็นเพียงภายนอก ยังไม่รวมไปถึงลักษณะปลีกย่อย ก็พอบอกชนิดของพันธุ์ยางได้ แต่ถ้าจะให้เกิดความแม่นยำมากขึ้น ผู้จะเป็นนักจำแนกพันธุ์ยางที่ดีควรจะทราบลักษณะประจำพันธุ์ยางไว้เป็นแนว ทางเพื่อให้ง่ายต่อการจำแนกพันธุ์ยาง ขอยกตัวอย่างพันธุ์ยางที่ผลิตเพื่อการค้า 4 พันธุ์ ดังนี้
พันธุ์สถาบันวิจัยยาง 251
รูปทรงฉัตรเป็นครึ่งวงกลม ฉัตรเปิด ระยะระหว่างฉัตรห่าง ใบสีเขียวเป็นมัน ป้อมปลายใบ ใบตัดตามขวางเว้าเป็นรูปท้องเรือ ขอบใบหยักเป็นลอนคลื่น ก้านใบยาวทำมุมตั้งฉากกับกิ่งกระโดง ฐานก้านใบชั้นเดียว ลักษณะพิเศษคือกิ่งกระโดงคดและขอบใบเป็นลอนคลื่น
พันธุ์ RRIM 600
รูปทรงฉัตรเป็นรูปกรวยขนาดเล็ก ฉัตรเปิด ใบสีเขียวอมเหลือง แผ่นใบเรียบ นิ่มลื่น ผิวใบมัน ขอบใบเรียบ ป้อมปลายใบ ปลายใบมีติ่งแหลมคล้ายใบโพธิ์ ก้านใบทำมุมยกขึ้น และใบทั้ง 3 ใบ อยู่ในแนวเดียวกัน ลักษณะพิเศษคือ ฐานก้านใบเป็นร่อง ตาอยู่ในฐานก้านใบ ฐานใบสอบเรียว
พันธุ์ BPM 24
รูปทรงฉัตรครึ่งวงกลม ฉัตรเปิด ใบสีเขียวไม่เป็นมัน ป้อมกลางใบ ฐานใบสอบเรียว ขอบใบเรียบ ก้านใบทำมุมเกือบตั้งฉากกับกิ่งกระโดง ก้านใบย่อยยาวทำมุมกว้างอยู่ในแนวเดียวกัน ลักษณะพิเศษคือ ใบกลางใหญ่กว่าใบทั้งสองข้าง และ ใบกลางมักยาวกว่าก้านใบ
พันธุ์ PB 235
รูปทรงฉัตรคล้ายรูปพีระมิด ฉัตรเปิด ใบสีเขียวไม่เป็นมัน ใบกลางป้อมกลางใบคล้ายรูปหอก ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบรูปลิ่ม มีเส้นกลางใบสีเหลืองชัดเจน ก้านใบตั้งฉากกับกิ่งกระโดง ลักษณะพิเศษคือ บางฉัตรมักพบใบย่อย 4 ใบ เส้นกลางใบสีเหลืองชัดเจน ฉัตรที่ใบเพสลาดจะพบฐานก้านใบสีม่วง
นายศุภมิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ลักษณะประจำพันธุ์ยางและการจำแนกพันธุ์ยางพาราบวกกับเทคนิคเฉพาะตัวที่กล่าว มาแล้วข้างต้น ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องหมั่นฝึกฝนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความชำนาญ ก็จะสามารถจำแนกพันธุ์ยางพาราได้อย่างถูกต้องแม่นยำไม่เฉพาะแต่ในแปลงปลูก เท่านั้น แม้แต่ในแปลงผลิตต้นยางชำถุงก็สามารถจำแนกได้เช่นกัน
แหล่งข้อมูล: พรรณพิชญา สุเสวี สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร
: http://www.live-rubber.com/index.php/para-rubber-articles/42-para-rubber-clones/201-rubber-clone-ide

ดาวน์โหลดเอกสารในหน้านี้

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แลกลิงค์ + ลิงค์เพื่อนบ้าน



แลกลิงค์ของคุณได้ที่นี่ค่ะ
ลิงค์ของเรามีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างนี้ค่ะ

หากคุณต้องการที่จะนำลิงค์ของคุณมาเพิ่มในเว็บบล๊อกของเราให้คุณส่งข้อมูลลิงค์ของคุณมาได้ที่ได้ที่ E-mail...... < so.saichool@hotmail.com > ค่ะ แล้วเราจะทำการนำลิงค์ของคุณลงในเว็บบล๊อกของเราโดยเร็วที่สุด
หมายเหตุคุณต้องนำลิงค์ของเราลงในเว็บไซต์ของคุณให้เรียบร้อยเสียก่อนโดยเราจะตรวจสอบหลังจากที่คุณส่งข้อมูลที่คุณต้องการแลกลิงค์ของคุณมายังอีเมล์ของเรา (ข้อมูลคือโค้ดลิงค์ของคุณ)
ก๊อปปี้โค้ดลิงค์ลิงค์นี่ไปวางในเว็บของคุณ