เศรษฐกิจพอเพียง “...เมื่อปี ๒๕๑๗ วันนั้นได้พูดถึงว่า เราควรปฏิบัติให้พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ก็แปลว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนมีพอมีพอกิน ก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดีและประเทศไทยเวลานั้นก็เริ่มจะเป็นไม่พอมีพอกิน บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย ... ... คนเรา ถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณ ตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง ...” “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะ แนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า ๓๐ ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำใช้ได้ในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัวระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ความพอเพียง หมายถึง (ความพอประมาณ ความมีเหตุผล) รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอก และภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกใน คุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรู้ที่เหมาะสม ในการดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี ความพอเพียง จะต้องประกอบด้วย ๓ คุณลักษณะ ดังนี้ ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดี ที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ ไม่ใช้จ่ายเกินกำลังความสามารถในการหารายได้ของตน ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ เช่น คิดก่อนใช้ สิ่งใดจำเป็นหรือไม่จำเป็น ใช้จ่ายอย่างประหยัด และแบ่งปันเกื้อกูลต่อสังคม การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลง ด้านต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การเก็บออมเงินไว้ใช้ เมื่อเกษียณอายุจากการทำงาน หรือใช้ในยามฉุกเฉิน การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้พอเพียง ต้องอาศัยความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน ประกอบอาชีพที่สุจริต ด้วยความขยันหมั่นเพียร ใช้สติปัญญาในการตัดสินใจต่าง ๆ เพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง เราทุกคนสามารถนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต ได้ดังนี้ พอประมาณ : รายจ่ายสมดุลกับรายรับ ใช้จ่ายภายในกำลังความสามารถของตน ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ไม่โลภจนเบียดเบียนตัวเองหรือผู้อื่น ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีเหตุผล : ใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล มีความจำเป็น ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ประหยัด ไม่ใช้สิ่งของ เกินฐานะ ไม่เล่นการพนันหรือเสพสิ่งเสพติด รู้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ มีภูมิคุ้มกัน : รักษาสุขภาพกายสุขภาพใจให้แข็งแรง พัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองอย่าง ต่อเนื่อง มีเงินเก็บออม ทำบุญ และแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ความรู้คู่คุณธรรม : ประกอบอาชีพที่สุจริต ด้วยความขยันหมั่นเพียร ซื่อตรงต่อหน้าที่และยืนหยัด ในความถูกต้อง อุทิศตนเพื่องาน ทำงานเพื่องาน ทำงานอย่างผู้รู้จริง รู้รักสามัคคีหากเราทุกคนนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาน้อมนำประพฤติปฏิบัติ นอกจากจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในทุกด้านแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างพื้นฐานของจิตใจของคนในชาติ ให้มีความพอดี มีคุณธรรม มีความสุขที่แท้จริง ไม่หลงยึดติดในโลกแห่งวัตถุนิยมการจัดทำบัญชีเงินออมครัวเรือน บันทึกรายรับและรายจ่ายอย่างสม่ำเสมอ เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยตรวจสอบการใช้จ่ายของครอบครัวว่า มีรายจ่ายสมดุลกับรายรับ ใช้จ่ายอย่างมีเหตุผลตามความจำเป็น พอเหมาะกับสภาพของครอบครัวหรือไม่ หากสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นหรือฟุ้งเฟ้อเกินตน จะช่วยให้สามารถมีเงินเก็บออมเพื่อเป็นรากฐานสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีสำหรับชีวิตในอนาคต

วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การปลูกผักเสี้ยน

การปลูกดองผักเสี้ยน
   
พื้นที่ 1 ไร่ สร้างรายได้เดือนหนึ่งหมื่นบาทจริงหรือ   

         มีพื้นที่ถือครองมาก มีพื้นที่ถือครองปานกลาง หรือจะมีพื้นที่ถือครองน้อย หรือไม่มีพื้นที่ถือครองเลย ก็อยู่ในสังคมไทยได้อย่างสบาย เพียงแต่ท่านมีหลักคิดเป็นของตนเอง ค้นหาจุดเด่นของท่านให้พบ พยายามศึกษาประสบการณ์จากผู้อื่นให้มากที่สุด และท่านจะเป็นผู้ค้นพบคำตอบโดยตังท่านเอง มี พื้นที่เพียง 7 ไร่ ทำอย่างไรจะให้อยู่ได้ และอยู่รอดในสังคมปัจจุบัน
          ผักเสี้ยน เป็นผักพื้นบ้านที่มีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ที่คนไทยรู้จักและนำมาประกอบอาหารตั้งแต่ยุคโบราณ ผักเสี้ยนเป็นผักที่ไม่นิยมนำมารับประทานสดๆ แต่จะนำมาแปรรูปโดยการดอง ผักเสี้ยนดองเป็นที่นิยมของสังคมไทยมานานแล้ว ไม่ว่าเป็นสังคมชนบท สังคมเมืองการปลูกผักเสี้ยน การดองผักเสี้ยนสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมามากต่อมากแล้ว เป็นสินค้าที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เป็นช่องทางการทำกินอีกช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจ
          ผักเสี้ยนมีสรรพคุณทางยามากมาย ต้นผักเสี้ยนแก้โลหิตและระดูเน่าเสีย กินแก้เจ็บสันหลัง เมล็ดกินขับพยาธิไส้เดือนในท้อง ช่วยขับปัสสาวะ การปลูกผักเสี้ยนเริ่มจากการเตรียมดิน โดนไถดะตากดินไว้ 7-10 วัน และไถแปรอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับปรับปรุงดินโดยเติมปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักแห้ง หรือรดราดด้วยปุ๋ยหมักน้ำ นำเมล็ดผักเสี้ยนหว่านลงไป โดยใช้ประมาณ 3 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 ไร่ รดน้ำให้ชุ่มประมาณ 7 วัน ก็จะผลิยอดออกมา หลังจากนั้นผักเสี้ยนโตขึ้นประมาณ 3-4 นิ้ว หากใช้น้ำหมักชีวภาพเสริมทุกๆ 7 วัน จะทำให้ต้นผักเสี้ยนสมบูรณ์และเติบโตเร็วขึ้น โดยปกติเมื่อผักเสี้ยนอายุ 40 วัน ก็เก็บเกี่ยวได้แล้ว ในพื้นที่ 1 ไร่ การเก็บเกี่ยวแต่ละครั้งจะไม่น้อยกว่า 100 กิโลกรัม เมื่อเก็บเกี่ยวครั้งแรกแล้ว การเก็บเกี่ยวครั้งต่อไปก็เว้นประมาณ 3-4 วัน ก็เก็บเกี่ยวรอบถัดไปได้ หลังจากเก็บเกี่ยวควรรดน้ำให้ชุ่ม พืชที่เก็บเกี่ยวยอดย่อมต้องการน้ำมาก หากการให้น้ำใช้ระบบสปริงเกลอร์จะดีที่สุด และปล่อยน้ำหมักชีวภาพไปตามท่อน้ำ สปริงเกลอร์ ก็จะสะดวกและประหยักเวลา แต่ต้องลงทุนเพิ่มอีกซักนิด แต่ครั้งเดียว การเก็บเกี่ยวผักเสี้ยนควรเก็บเกี่ยวในตอนเช้า ขนาดความยาวของยอดควรเป็น 3-4 นิ้ว เดือนหนึ่งสามารถเก็บเกี่ยวได้ 10 ครั้ง และเก็บเกี่ยวได้นา 3-4 เดือน ขึ้นอยู่กับการบำรุงรักษาเมื่อต้นผักเสี้ยนแก่ ให้ผลผลิตน้อยก็ไถทิ้งโดยไถ 2 ครั้ง เหมือนครั้งแรก แต่ครั้งนี้ไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากก่อนไถทิ้งเราปล่อยให้ผักเสี้ยนเป็นดอก และ ออกฝักให้แก่จัด ฝักเหล่านั้นก็จะเป็นเมล็ดพันธุ์ให้เราต่อไป ทำอย่างนี้ได้ประมาณ 3 ครั้ง หรือ 3 รอบหลังจากนั้นให้ไถทิ้งแล้งสลับด้วยพืชตระกูลถั่ว เป็นการพักดินและปรับปรุงดินใหม่ ทุกครั้งที่มีการไถพรวนจะต้องเสริมด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักแห้ง ปุ๋ยหมักน้ำ เพื่อปรับปรุงดินให้พร้อมที่จะช่วยสร้างความเจริญให้แก่ต้นผักเสี้ยน เมื่อต้นผักเสี้ยนเจริญเติบโตดีก็หมายถึงรายได้ของเราก็จะเจริญเติบโตตามไปด้วย
          วิธีดองผักเสี้ยน หากเกษตรกรปลูกผักเสี้ยนครั่ง คือ ผักเสี้ยนต้นแดง ก้านใบสีแดง เมื่อนำมาดองน้ำผักเสี้ยนจะออกสีชมพูดูแล้วสีสวยน่ารับประทาน การดองผักเสี้ยนก็นำผักเสี้ยนที่ตักมาใหม่ มาล้างน้ำให้สะอาดแล้วนำไปผึ่งแดดหรือผึ่งลมให้พอหมาดๆ ขณะเดียวกันก็เตรียมน้ำดองภาชนะที่ใช้ควรเป็นโอ่งมังกร ใสน้ำสะอาดลงไปครึ่งโอ่ง ใส่เกลือลงไป 3 กิโลกรัม ใส่น้ำตาลทรายขาวลงไป 2 กิโลกรัม ละลายให้เข้ากัน ชิมน้ำให้เค็มอมหวานนิดหน่อย ถ้าเค็มมากก็ไม่ดี ถ้าอ่อนเค็มมากก็ไม่ได้ เกษตรกรควรทดลองทำ เมื่อปรับปรุงได้มาตรฐานแล้วให้ทำเป็นสูตรผักเสี้ยนกี่กิโลกรัม น้ำกี่ลิตร น้ำตาลกี่กิโลกรัม เกลือกี่กิโลกรัม เมื่อเตรียมน้ำเสร็จแล้วก็นำผักเสี้ยนแช่ลงในโอ่ง โดยกดให้มิดน้ำ ปิดฝาโอ่งทิ้งไว้ในที่ร่ม การดูแลผักเสี้ยนที่ดองไว้ให้พลิกกลับทุกวัน วันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น การดองผักเสี้ยนเมื่อครบ 48 ชั่วโมง ก็แยกผักเสี้ยนออกขายได้แล้ว
          ผักเสี้ยนดิบ 1 กิโลกรัม เมื่อดองแล้วใส่ถุง 5 บาท ได้ 8 ถุง ก็เท่ากับ 40 บาท ผักเสี้ยน 1 ไร่ ตัดได้แต่ละครั้งไม่น้อยกว่า 100 กิโลกรัม หากขายปลีกเท่ากับกิโลกรัมละ 40 บาท ก็จะได้เงิน 4,000 บาท  หากขายส่งตกราคากิโลกรัมละ 30 บาท ก็เท่ากับ 3,000 บาท เดือน 1 ตัดได้ 8-10 ครั้ง คิดแค่ราคาส่ง ก็มีรายได้แล้ว เดือนละ 24,000 บาท
          การตลาดอยู่ที่ไหนก่อนจะทำการปลูกหรือผลิตอะไรก็ตาม ต้องใช้การตลาดเป็นตัวนำ ต้องเรียนรู้เรื่องการตลาด หากจะขายส่ง ขายใคร ขายได้วันละกี่ถุง  หรือถ้าขายปลีกก็ลองสำรวจร้านขนมจีน ลองรวบรวมให้ได้สัก 20 ร้าน แต่ละร้านหากมีกำลังซื้อได้ร้านละ 6 ถุง ถุงละ 5 บาท ขายได้แล้ว 30 บาทต่อร้าน หาก 20 ร้านก็ขายได้แล้ว 600 บาท เดือนหนึ่งก็จะมีรายได้แล้ว 18,000 บาท ลองทำแบบนี้ดูไม่รวยก็ไม่รู้จะแนะนำอะไรต่อ หากต้องการรายได้เพิ่มก็ลองติดต่อแม่ค้าขายส่งหรือขยายตลาดขายปลีกออกไปอีก ตลาดต้องการมากขึ้นแต่ พื้นที่ 1 ไร่ไม่เพียงพอต่อการป้อนวัตถุดิบ ก็ขายและซื้อที่ปลูกเพิ่ม หรือจะให้ผู้อื่นปลูกร่วมกับเราแต่เราขอรับซื่อของเขามาดองขายเองด้วย หรือหากเราไม่มีพื้นที่จะให้คนอื่นปลูก ส่วนเรารับซื้อของเขามาดองขาย มาแปรรูป แล้วส่งตลาด
          คิดแบบนี้ ทำแบบนี้ รวยหรือจนคิดเอาเองก็แล้วกัน ขอไม่แนะนำต่อแล้วละครับ บ๊าย บาย
อ้างอิงที่มาจาก หนังสือ ชี้ช่องทางการทำกิน  โดยอาจารย์   สมพล    รักหวาน
ผู้พิมพ์  นาย อนุสรณ์  ชลเกษม

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แลกลิงค์ + ลิงค์เพื่อนบ้าน



แลกลิงค์ของคุณได้ที่นี่ค่ะ
ลิงค์ของเรามีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างนี้ค่ะ

หากคุณต้องการที่จะนำลิงค์ของคุณมาเพิ่มในเว็บบล๊อกของเราให้คุณส่งข้อมูลลิงค์ของคุณมาได้ที่ได้ที่ E-mail...... < so.saichool@hotmail.com > ค่ะ แล้วเราจะทำการนำลิงค์ของคุณลงในเว็บบล๊อกของเราโดยเร็วที่สุด
หมายเหตุคุณต้องนำลิงค์ของเราลงในเว็บไซต์ของคุณให้เรียบร้อยเสียก่อนโดยเราจะตรวจสอบหลังจากที่คุณส่งข้อมูลที่คุณต้องการแลกลิงค์ของคุณมายังอีเมล์ของเรา (ข้อมูลคือโค้ดลิงค์ของคุณ)
ก๊อปปี้โค้ดลิงค์ลิงค์นี่ไปวางในเว็บของคุณ