เศรษฐกิจพอเพียง “...เมื่อปี ๒๕๑๗ วันนั้นได้พูดถึงว่า เราควรปฏิบัติให้พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ก็แปลว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนมีพอมีพอกิน ก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดีและประเทศไทยเวลานั้นก็เริ่มจะเป็นไม่พอมีพอกิน บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย ... ... คนเรา ถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณ ตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง ...” “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะ แนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า ๓๐ ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำใช้ได้ในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัวระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ความพอเพียง หมายถึง (ความพอประมาณ ความมีเหตุผล) รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอก และภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกใน คุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรู้ที่เหมาะสม ในการดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี ความพอเพียง จะต้องประกอบด้วย ๓ คุณลักษณะ ดังนี้ ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดี ที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ ไม่ใช้จ่ายเกินกำลังความสามารถในการหารายได้ของตน ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ เช่น คิดก่อนใช้ สิ่งใดจำเป็นหรือไม่จำเป็น ใช้จ่ายอย่างประหยัด และแบ่งปันเกื้อกูลต่อสังคม การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลง ด้านต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การเก็บออมเงินไว้ใช้ เมื่อเกษียณอายุจากการทำงาน หรือใช้ในยามฉุกเฉิน การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้พอเพียง ต้องอาศัยความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน ประกอบอาชีพที่สุจริต ด้วยความขยันหมั่นเพียร ใช้สติปัญญาในการตัดสินใจต่าง ๆ เพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง เราทุกคนสามารถนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต ได้ดังนี้ พอประมาณ : รายจ่ายสมดุลกับรายรับ ใช้จ่ายภายในกำลังความสามารถของตน ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ไม่โลภจนเบียดเบียนตัวเองหรือผู้อื่น ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีเหตุผล : ใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล มีความจำเป็น ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ประหยัด ไม่ใช้สิ่งของ เกินฐานะ ไม่เล่นการพนันหรือเสพสิ่งเสพติด รู้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ มีภูมิคุ้มกัน : รักษาสุขภาพกายสุขภาพใจให้แข็งแรง พัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองอย่าง ต่อเนื่อง มีเงินเก็บออม ทำบุญ และแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ความรู้คู่คุณธรรม : ประกอบอาชีพที่สุจริต ด้วยความขยันหมั่นเพียร ซื่อตรงต่อหน้าที่และยืนหยัด ในความถูกต้อง อุทิศตนเพื่องาน ทำงานเพื่องาน ทำงานอย่างผู้รู้จริง รู้รักสามัคคีหากเราทุกคนนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาน้อมนำประพฤติปฏิบัติ นอกจากจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในทุกด้านแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างพื้นฐานของจิตใจของคนในชาติ ให้มีความพอดี มีคุณธรรม มีความสุขที่แท้จริง ไม่หลงยึดติดในโลกแห่งวัตถุนิยมการจัดทำบัญชีเงินออมครัวเรือน บันทึกรายรับและรายจ่ายอย่างสม่ำเสมอ เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยตรวจสอบการใช้จ่ายของครอบครัวว่า มีรายจ่ายสมดุลกับรายรับ ใช้จ่ายอย่างมีเหตุผลตามความจำเป็น พอเหมาะกับสภาพของครอบครัวหรือไม่ หากสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นหรือฟุ้งเฟ้อเกินตน จะช่วยให้สามารถมีเงินเก็บออมเพื่อเป็นรากฐานสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีสำหรับชีวิตในอนาคต

วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การเลี้ยงปลาแบบธรรมชาติ



การเลี้ยงปลาด้วยฟางข้าว
วัสดุในประเทศไทยที่ไม่ได้เอามาใช้ประโยชน์ ทั้งๆที่มีประโยชน์ แต่กลับถูกทิ้งอย่างไร้คุณค่ามีอยู่ 2 อย่างคือ ฟางข้าว และน้ำมะพร้าว ทั้งสองอย่างนี้มีปริมาณมหาศาลในแต่ละปี แต่กลับไร้คุณค่า ในเรื่อของการนำฟางข้าวมาเลี้ยงปลา ความคิดนี้เป็นของคุณ มงคล ทวีสิน เกษตรกร ต.ตะกุดไช อ. ชนแดน จ. เพชรบูรณ์ ที่เป็นผู้ค้นพบการเลี้ยงปลาด้วยฟางข้าวเป็นอาหารโดยบังเอิญ กล่าวคือ คุณ มงคล ทวีสิน เคยเลี้ยงปลาด้วยอาหารสำเร็จรูปที่ขายอยู่ตามท้องตลาด แต่ไม่สำเร็จ ประสบกับการขาดทุนจึงยกเลิกและนำฟางข้าวมาถมบ่อเพื่อที่จะกลบบ่อ ปรากฏว่าเห็นปลาที่เหลืออยู่มากินฟางข้าวที่จมอยู่ในน้ำ ฟางข้าวก็หมดไป น้ำในบ่อก็ไม่เน่าเสีย เมื่อลองจับปลามาสังเกตดูก็เห็นว่าปลามีสภาพอ้วนท้วนสมบูรณ์ดี จึงเกิดความคิดที่ว่า ฟางข้าวน่าจะนำมาเลี้ยงปลาได้ อย่างแน่นอน
          เพื่อที่จะลงมือทำอย่างจริงจัง คุณ มงคล ทวีสิน ได้ลงมือทำการพิสูจน์อย่างจริงจัง โดยปล่อยลูกปลาสวาย ปลาทับทิม ปลาสลิด ปลาดุกอุ้ย ลงในบ่อปลา โดยปลาที่ปล่อยนั้นเป็นปลากินพืชทั้งหมด แล้วใช้กองฟางสุม เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปีก็ทดลองจับปลาออกขาย ปรากฏว่าได้ปลาขนาดใหญ่ตามที่ตลาดต้องการ ปลาสวายขนาดเกือบ 2 กิโลกรัม ปลาทับทิมตัวละ 3-4 ขีด ปลาดุกอุ้ย 3-4 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม ปลาสลิดก็มีขนาดใหญ่ นี่คือที่มาของความคิดที่ใช้ฟางข้าวเลี้ยงปลา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีธรรมชาติที่ไม่เคยมีใครทราบมาก่อน การค้นพบครั้งนี้ถือว่ามีคุณค่าต่อเกษตรกรอย่างมหาศาล ขอให้เกษตรกรที่นำวิธีการเลี้ยงปลาด้วยฟางข้าวไปใช้ จงระลึกถึงเจ้าของความคิด และช่วยกันแพร่หลักคิดนี้ให้กว้างไกลออกไปจะได้เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรไทย โดยรวม
         ใน ภาวะปัจจุบันปลาน้ำจืดจากแหล่งน้ำธรรมชาติมีน้อยลง ไม่เพียงพอต่อการบริโภค ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เกษตรกรส่วนหนึ่งได้หันมาเลี้ยงปลาน้ำจืดจำหน่าย แต่ก็ต้องประสบสภาวะขาดทุน หรือไม่ก็ได้กำไรน้อย ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เนื่องจากอาหารสำเร็จรูปมีราคาแพง การเลี้ยงปลาในแนวธรรมชาติแม้จะใช้เวลานานกว่าการเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูป แต่คุณภาพของปลาเหมือนกับปลาที่ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ  จึง ขายได้ในราคาสูง ประกอบกับต้นทุนน้อย จึงประกันได้ว่าคำว่าขาดทุนหรือกำไรน้อยไม่มีอย่างแน่นอน อยากมีรายได้มากๆก็ให้เพิ่มจำนวนบ่อมากขึ้น และขยันหาฟางข้างให้เพียงพอต่อการฤดูการเลี้ยงปลาและฤดูการเก็บเกี่ยว
         การเลี้ยงปลาด้วยฟางข้าว จะใช้บ่อเก่าหรือขุดใหม่ก็แล้วแต่ ความลึกของบ่อควรจะเป็น 2 เมตร เป็นอย่างน้อย ขนาดของบ่ออาจจะเป็น 1 ไร่ หรือ 2-3 งาน เมื่อนำน้ำใส่ในบ่อแล้ว ให้หามูลโค-กระบือ ใส่ไว้เพื่อเพาะลูกไร ก็จะเกิดลูกไรและแมลงตัวเล็กๆ ซึ่งจะได้เป็นอาหารของปลากินเนื้อต่อไป
          การ เลี้ยงปลาด้วยฟางข้าวปล่อยลูกปลากินพืช เช่น ปลาสวาย ปลานิล ปลาทับทิม ปลาสลิด และลูกปลากินเนื้อ เช่น ปลาหมอ ปลาดุกอุ้ย ในพื้นที่บ่อ 1ไร่ ปล่อยลูกปลาจำนวน 10,000 ตัว ปลากินพืชจะกินฟางข้าว ส่วนปลากินเนื้อจะกินลูกไรและแมลงที่เกิดจากฟางข้าว ปลาทั้งสองประเภทจะไม่ทำลายซึ่งกันและกัน ยกเว้นปลาช่อน
         การให้ฟางข้าว เกษตรกรจะต้องกองฟางข้าวไว้ที่ริมบ่อ ส่วนหนึ่งให้จมน้ำ ควรวางฟางข้าวไว้ใต้ลม เพื่อให้ได้รับอากาศจากลมพัด และฟางจะได้ไม่กระจายไปทั่วบ่อ เมื่อฟางข้าวใยบ่อยุบตัวลงก็ดันฟางข้าวที่ขอบบ่อลงไป ปลาก็จะมากินฟางข้าวที่เน่าเปื่อย ปลาสวาย ปลาสลิด ก็จะมากินฟางข้าวโดยตรง ส่วนปลาทับทิมจะกิน หนอน แมลง และ ลูกไรที่เกิดจากการหมักของฟางข้าว การเลี้ยงปลาโดยวิธีนี้ไม่ต้องให้อาหารอื่นใดเลยนอกจากฟางข้าวเพียงอย่าง เดียว เกษตรกรจะต้องกำหนดให้เวลา 1 ปี หมดฟางข้าวพอดี ก็จะเหลือแต่ฟางข้าวที่เป็นตอซังแข็งๆ เท่านั้นที่เหลืออยู่ที่ริมบ่อ การจับปลาจะต้องดูว่าช่วงใดราคาแพง ให้เลือกจับในช่วงนั้น หากช่วงใดราคาไม่ดี เราก็ขยายเวลาออกไปก่อน เพราะไม่มีต้นทุนอาหาร ยิ่งนานออกไปปลาก็ยิ่งโต ปลาก็ยิ่งได้ราคา
          การเจริญเติบโตในระยะเวลา 1 ปี การเติบโตของปลาเฉลี่ยแล้วปลาสวายตัวละ 2 กิโลกรัม ปลาทับทิม ตัวละ 3-4 ตัวต่อกิโลกรัม ปลาหมอ ขนาด 5-6 กิโลกรัม
          คุณภาพ ของปลาเหมือนกับปลาที่จับมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ปลาไม่ผอม ไม่มีกลิ่น การคำนวณรายได้ต่อบ่อ ต่อไร่ คำนวณอยาก เนื่องจากขึ้นอยู่กับจำนวนอัตราการรอดของลูกปลาเป็นสำคัญ หากได้น้ำหนักโดยรวมประมาณ 1 ตัน ต่อพื้นที่บ่อ 1 ไร่ ซึ่งเป็นอัตราขั้นต่ำก็มีรายได้แล้วไม่น้อยกว่า 60,000 บาท
          และ ที่สำคัญที่คันบ่ออย่าปล่อยให้ว่าง ควรหาพืชยืนต้นมาปลูก จะเป็นมะพร้าวตาล หรือ มะพร้าวน้ำหอม ชมพู่ทับทิมจันทร์ ฝรั่ง ส้มโอ พืชสวนครัว หรือพืชเก็บยอดก็ดี เพื่อสร้างรายได้รายวันรายได้รายเดือน ส่วนปลาก็เป็นรายได้รายปี คิดแบบนี้ ทำแบบนี้ ครอบครัวมีอนาคตครับ หลักคิดนั้นสำคัญครับ ท่านที่อ่านแล้วนำไปปฏิบัติลงมือทำ ในการทำครั้งต่อไป หรือ คิดที่จะปลูกสิ่งใดๆต่อไป ท่านควรคิดเพื่อสร้างหลักคิดเป็นของตัวเอง คิดให้ดี ก้าวหน้า และลงมือทำครับ

ดาวโหลดเอกสารการเลี้ยงปลาแบบธรรมชาติ 
อ้างอิงที่มาจาก หนังสือ ชี้ช่องทางการทำกิน  โดยอาจารย์   สมพล    รักหวาน
นาย อนุสรณ์  ชลเกษม  ผู้พิมพ์เอกสารฉบับนี้


5 ความคิดเห็น:

ขอบคุณสำหรับความรู้และเจ้าของต้นตำหรับครับ

ขอบคุณค่ะ กำลังคิดอยากกลับบ้านทางอีสาน เพื่อไปทำเกษตรพอเพียง แต่ก็คิดหนัก เป็นผู้หญิงตัวคนเดียวไม่มีครอบครัว ไม่รู้จะทำได้หรือเปล่า
แต่ก็พยายาม เพราะเหนื่อยมากแล้ว น้องๆก็สุขสบาย ส่งพวงกเขาถึงฝั่งฝันกันหมดแล้ว ก็เลยเหลือตัวคนเดียว แต่ชอบนะ เพราะเหมือนได้ปลดภาระอันหนักหน่วงตลอดที่ผ่านมา
ขอบคุณจจริงๆ เดี๋ยวจะปริ้นส่งไปให้น้องๆด้วย

ได้แนวคิดใหม่ๆดีครับ ขอบคุนครับ

เยี่ยมครับ ขอบคุณแนวคิด

ขอบคุณครับ จะให้เสริมจากอาหารปกติ
https://www.youtube.com/watch?v=ynhFEVwBfRk

แสดงความคิดเห็น

แลกลิงค์ + ลิงค์เพื่อนบ้าน



แลกลิงค์ของคุณได้ที่นี่ค่ะ
ลิงค์ของเรามีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างนี้ค่ะ

หากคุณต้องการที่จะนำลิงค์ของคุณมาเพิ่มในเว็บบล๊อกของเราให้คุณส่งข้อมูลลิงค์ของคุณมาได้ที่ได้ที่ E-mail...... < so.saichool@hotmail.com > ค่ะ แล้วเราจะทำการนำลิงค์ของคุณลงในเว็บบล๊อกของเราโดยเร็วที่สุด
หมายเหตุคุณต้องนำลิงค์ของเราลงในเว็บไซต์ของคุณให้เรียบร้อยเสียก่อนโดยเราจะตรวจสอบหลังจากที่คุณส่งข้อมูลที่คุณต้องการแลกลิงค์ของคุณมายังอีเมล์ของเรา (ข้อมูลคือโค้ดลิงค์ของคุณ)
ก๊อปปี้โค้ดลิงค์ลิงค์นี่ไปวางในเว็บของคุณ